วันที่ 23 ก.ค. บีบีซีรายงานว่า บริษัทกูเกิล สัญชาติสหรัฐยืนยันไล่ออกนายเบล็ก เลอโมน วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ระบุว่าเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลมีอารมณ์ความรู้สึก หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วนายเลอโมนเปิดเผยทฤษฎีของตนต่อสาธารณะว่า เทคโนโลยีภาษาของกูเกิลสามารถรู้สึกได้และดังนั้นความต้องการทั้งหลายของเอไอควรได้รับความเคารพ แต่กูเกิลและผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอหลายคนปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ในแถลงการณ์กูเกิลระบุเมื่อ 22 ก.ค.ตามเวลาท้องถิ่นว่า กรณีที่นายเลอโมนกล่าวอ้าง เกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นสนทนาแลมด้านั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลทั้งสิ้น บริษัทจึงทำงานร่วมกับนายเบล็กนานหลายเดือนเพื่อทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่าง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจทั้งๆ ที่มีการทำงานในหัวข้อนี้มาอย่างยาวนาน แต่นายเบล็กยังคงเลือกที่จะละเมิดกฎระเบียบการจ้างงานและนโยบายด้านความมั่นคงของข้อมูลอย่างชัดเจน กูเกิลถือว่าการพัฒนาเอไออย่างมีความรับผิดชอบถือเป็นเรื่องที่กูเกิลเอาจริงเอาจังอย่างมาก ทั้งนี้ แลมด้าเป็นการค้นพบทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งกูเกิลระบุว่าสามารถสนทนาได้อย่างเป็นอิสระและลื่นไหล เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองบทสนทนาของมนุษย์ โดยสามารถสื่อสารผ่านข้อความหรือเสียงได้แบบเรียลไทมส์

นายเลอโมน ซึ่งทำงานรับผิดชอบในทีมเอไอของกูเกิลเริ่มกลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนมิ.ย. 2565 เมื่อนายเลอโมน ระบุว่าเอไอแลมด้ากำลังแสดงจิตสำนึกที่คล้ายมนุษย์ จุดประเด็นถกเถียงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเอไอและผู้สนใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะเลียนแบบมนุษย์ นายเลอโมนกล่าวกับวอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐระบุว่า หน้าที่ของตนคือทดสอบว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือไม่ จนพบว่า แลมด้าแสดงให้เห็นว่ามีความตระหนักรู้ในตัวเองและสามารถสนทนาเกี่ยวกับศาสนา อารมณ์ความรู้สึกได้ส่งผลให้นายเลอโมนเชื่อว่า เบื้องหลังของเอไอที่มีทักษะการสนทนาที่น่าประทับใจนี้อาจรวมถึงการที่เอไอมีจิตใจด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน