นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าของสถิติโลกในด้านมรดกทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลังไทยได้ค้นพบไม้กลายเป็นหิน ยาวถึง 69.70 เมตร มีอายุประมาณ 120,000 ปี

ถือว่าได้ทุบสถิติใหม่ของโลก หลังก่อนหน้านี้มีบันทึกไว้ที่เมือง ฉีไท่ มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความยาว 38 เมตร กว้าง 1.2 เมตร เมื่อปี 2550

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2565 กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด หรือ GWR (Guinness World Records) ได้ส่งมอบเอกสารรับรองในงาน บันทึกสถิติโลก “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการรับมอบเอกสาร ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จ.ตาก

นายจตุพรกล่าวยินดีว่า แหล่งไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรณีที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดตาก จะร่วมกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งความท้าทายกว่าการได้มาคือการรักษา เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปได้ใช้ประโยชน์”

ด้าน นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบายถึงความโดดเด่นของไม้กลายเป็นหินว่า ไม้กลายเป็นหิน ถูกค้นพบโดย นายวชิระ ม่วงแก้ว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปี 2546 ในพื้นที่ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) ในปัจจุบัน

ถือเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยา คือ พบฟอสซิลไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ จำนวน 7 ต้น และพบโผล่กระจัดกระจายในพื้นที่ 35 ตร.ก.ม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหลุมขุดค้นที่ 1 ที่พบไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวถึง 69.70 เมตร เทียบเท่าความสูงของตึกเกือบ 20 ชั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.80 เมตร มีอายุประมาณ 120,000 ปี ซึ่งเป็นต้นที่ได้รับการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ในครั้งนี้

ส่วนกระบวนการไม้กลายเป็นหิน นายพงศ์บุณย์อธิบายว่า เกิดจากเหตุดินถล่ม ต้นไม้หักโค่นและถูกทับถมด้วยกรวดทรายอย่างรวดเร็ว และมีการปิดทับอย่างสมบูรณ์ไม่มีผุพัง ก่อนที่น้ำบาดาลซึ่งมีสารละลายของซิลิก้า ค่อยๆ เข้ามาแทนที่เซลล์เนื้อไม้อย่างช้าๆ กระทั่งเนื้อไม้กลายเป็นหินทุกโมเลกุล โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างอีก

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผวจ.ตาก กล่าวว่า การรับรองสถิติไม้กลายเป็นหินที่มีความยาวที่สุดในโลก จะทำให้จ.ตาก เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลดีในด้านการท่องเที่ยวและวิชาการ สำหรับในอนาคตจ.ตาก จะพยายามพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานธรณี หรือ GEO PARK โดยต้องอาศัยความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและทรัพยากรธรรมชาติ จากประชาชน ชุมชน ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเชื่อมโยงในธรณีวิทยากับวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชนที่จะทำให้เกิดการขยายงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายกนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรับรองสถิติในครั้งนี้ สมาคมในฐานะ ผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อการขอรับรองจาก GWR ทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหิน โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะในพื้นที่บริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกนี้ ยังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่อีก 6 ต้น ความยาวราว 30-45 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2.0 เมตร และคาดว่าน่าจะมีไม้กลาย เป็นหินอีกเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้

นับเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่รวมกันเช่นนี้มาก่อน

นายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผอ.อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหิน กล่าวว่า การบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ จะทำให้ชุมชนและประชาชนรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของแหล่งทรัพยากรธรณี ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความตระหนักถึงความสำคัญของไม้กลายเป็นหินตาก เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล รวมทั้งจะเพิ่มขีดความสามารถ ด้านการท่องเที่ยวในอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินอย่างสร้างสรรค์ และมีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จ.ตาก

นอกจากความโดดเด่นของไม้กลายเป็นหินแล้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย อาทิ น้ำตกลานสาง ผาสามเงา น้ำตกแก่งห้วยตาก ดอยหลวงตาก ดอยสอยมาลัย ดอยสอยดาว เป็นต้น ซึ่งทุกพื้นที่ล้วนมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน

การรับรองสถิติโลกครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญแห่งการเปิดมิติใหม่ ของการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจ.ตาก สู่การยกระดับอุทยานธรณีระดับโลก

พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชน และสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนต่อไป

นนทวรรณ มนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน