การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเกิดอะไรได้บ้าง

มโน

ตอบ มโน

ข้อมูลคำตอบนำมาจากเว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุถึงผลลัพธ์ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือเรียกกันทั่วไปว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนี้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของสภา ผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบรัฐบาล หากเสียงส่วนใหญ่ของสภาลงมติไม่ไว้วางใจก็สามารถทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจพ้นจากตำแหน่งได้ และถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความไว้วางใจก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลได้

ในอดีต ไม่เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งไหนเลยที่เสียงส่วนใหญ่สภาผู้แทนราษฎรจะเอารัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตามในแต่ละครั้งก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลได้อย่างน้อย 3 ด้าน

1.เปิดแผลรัฐบาล ลดทอนคะแนนนิยม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่ามีความยากลำบาก กว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกของพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ ได้ ดังนั้น ต่อให้ ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบเป็นนายกฯ คนใหม่ ก็ต้องเอาชนะเสียงของ ส.ว.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลตกอยู่ในสภาวะจำยอมว่า หากต้องการเป็นรัฐบาลก็ต้องช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย มิเช่นนั้น ก็จะไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จของมัน แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นสนามรบสำคัญที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะได้ใช้พื้นที่ในการตีแผ่ความผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุด การอภิปรายเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป พูดง่ายๆ ได้ว่า การอภิรายไม่ไว้วางใจในอีกมุมหนึ่งคือการเปิดแผลลดทอนความนิยมต่อรัฐบาล

ถ้าพิจารณาจากอดีต มีหลายกรณีที่พรรคฝ่ายค้านใช้กลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจกดดันรัฐบาลจนนำไปสู่การยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ และคะแนนนิยมในพรรครัฐบาลที่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ลดลงจนเกิดการสลับขั้วทางการเมือง

2.ปรับ ครม. เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่สามารถทำให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งได้ แต่หลายครั้งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็นำมาสู่การปรับ ครม. และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีใหม่ เพื่อลดแรงกดดันจากสภาหรือรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล รวมทั้งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้น

3.ปลดนายกฯ อาจได้นายกฯ ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรค 4 กำหนดว่า มติ “ไม่ไว้วางใจ” ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถทำให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งได้

แต่กรณีของนายกฯ นั้นมีความพิเศษกว่ากรณีของ รมต. ถ้าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเพราะสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลให้ รมต. “ทั้งคณะ” พ้นจากตำแหน่งด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 (1) แต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องด้วยนายกฯ ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ ปฏิบัติหน้าที่ “รักษาการ” ไปจนกว่าจะตั้งครม.ชุดใหม่เข้ามา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน