นกแก้วโม่งในป่าบางกรวย

สดจากเยาวชน

ในบรรดานกแก้วที่มีในประเทศไทย 7 ชนิด นกแก้วโม่งจัดว่าเป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดและอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีโอกาสลดจำนวนลงมากเนื่องจากปัญหาสำคัญของชุมชนเมือง คือขาดแคลนต้นไม้ใหญ่

นกแก้วโม่งเคยอยู่ในป่าในสวน แต่ปัจจุบันความเป็นป่าเป็นสวนถูกเมืองรุกล้ำขยายอาณาบริเวณมากขึ้น พื้นที่สีเขียวลดลง ต้นไม้ใหญ่น้อยลดจำนวนลงจนส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของนกแก้วโม่ง เนื่องจากพวกมันทำรังวางไข่ในโพรงไม้ อาศัยต้นไม้ใหญ่ที่มีความสูงเพียงพอ

พื้นที่แถบบางกรวย นนทบุรี พบนกแก้วโม่งทำรังบนต้นยางนาที่มีอายุมากๆ รังของนกแก้วโม่งเป็นโพรงไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นโพรงที่มีสัตว์อื่นทำไว้ ดูๆ ไปก็คล้ายการทำรังของนกเงือก แตกต่างกันตรงที่นกแก้วโม่งไม่ปิดปากโพรงในขณะฟักไข่และเลี้ยงลูกอยู่ในโพรงรัง พ่อนกแก้วโม่งทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงดูแม่นกและลูกนกในโพรงรังจนลูกของมันเติบโตพร้อมออกจากโพรง

ที่วัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย พบนกแก้วโม่งรวมฝูงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในละแวกนี้ พวกมันอาศัยต้นยางนาเก่าแก่อายุนับร้อยปีเป็นที่อาศัย ออกหากินแต่เช้าตรู่และกลับมานอนที่ต้นยางนาตอนพลบค่ำ หากจะไปดูนกแก้วโม่งที่วัดสวนใหญ่ก็ควรไปให้ทันช่วงเช้าก่อนนกออกไปหากิน หรือไม่ก็เฝ้ารอเวลาเย็นที่เหล่านกจะบินกลับมา แต่อีกไม่นานเมื่อฤดูจับคู่มาถึง เราจะมีโอกาสเห็นนกแก้วโม่งที่วัดสวนใหญ่แทบทั้งวัน

ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ จิตอาสาชุมชน และอาสาสมัครพิทักษ์อุทยาน เป็นคนในชุมชนที่เฝ้าติดตามพฤติกรรมนกแก้วโม่งมาหลายปี เล่าว่า “นกแก้วโม่งจะเริ่มจับคู่กันตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน แล้วจะเริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่พฤศจิกายน ธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคม หลังจากนั้นจะฟักไข่ วางไข่ ใช้เวลาวางไข่ประมาณ 25 วัน ลูกนกจะอยู่แต่ในโพรงรังประมาณเดือนกว่าถึง 2 เดือน”

ต้องอดใจรอกันหน่อย เมื่อลูกนกพร้อมเขาจะเริ่มโผล่หน้าออกมาจากรังให้เราเห็น นกแก้วโม่งมีลูกได้ครั้งละ 2-3 ตัว ถ้าหากมีโพรงเพียงพอคงขยายพันธุ์ได้มากขึ้น

ปัจจุบันพบเห็นนกแก้วโม่งหลายพื้นที่ในจังหวัดนนทบุรี พื้นที่ที่ยังมีต้นไม้ใหญ่หรือตามวัดต่างๆ ถ้าเห็นนกแก้วปากหนาใหญ่สีแดงสด ขนลำตัวเขียว คาดแถบแดงที่หัวไหล่ หางยาวเรียวสีเขียวแกมฟ้าแล้วล่ะก็ นั่นคือนกแก้วโม่ง

น้องน้ำมนต์ ด.ช.ธนบดี คงวิชัย เล่าว่า “ผมเห็นนกแก้วโม่งมานานแล้ว แต่เพิ่งเคยส่องกล้องมองใกล้ๆ ครั้งแรก และเพิ่งรู้ว่านกแก้วโม่งเป็นนกหายากแล้วครับ”

นกแก้วโม่งเป็นนกประจำถิ่นและหายากเนื่องจากชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับต้นไม้ใหญ่ นกแก้วโม่งต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ถ้าหาต้นไม้สูงๆ ไม่ได้ ไม่มีโพรง ทำรัง โอกาสเพิ่มจำนวน ก็น้อย ในอนาคตอาจจะมีโพรงเทียมมาทดแทนมากขึ้น ในขณะเดียวกันชาวบ้านละแวกบางกรวย บางใหญ่ ก็ช่วยกันปลูกต้นยางนากันไปก่อน แม้จะโตไม่ทันในเวลาอันใกล้แต่นับว่าเป็นความหวังที่ยั่งยืนสำหรับนกแก้วโม่งฝูงสุดท้ายฝูงนี้

ทุ่งแสงตะวันชวนเที่ยววัดสวนใหญ่ บางกรวย ตามหานกแก้วโม่งฝูงสุดท้าย ในวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคมนี้ เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และ 07.30 น. ทางยูทูบ และเพจเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน