หลังจากดีลยักษ์ของ 2 ค่ายใหญ่ “ทรู-ดีแทค” เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 และสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการโทรคมนาคมของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับอุปสรรคไม่ใช่น้อย จนถึงวันนี้เวลาล่วงเลยมาหลายเดือน แต่ยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทำให้ 2 ผู้บริหารของ “ซีพี-เทเลนอร์ กรุ๊ป” อดรนทน ไม่ไหว จับมือกันร่วมแถลงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ซิคเว่ เบรคเก้

โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของดีแทค

นายศุภชัยกล่าวยืนยันว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกันในการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทรู-ดีแทค ซึ่งนำไปสู่ Telecom-Tech Company เพื่อขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ประกอบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในตอนนี้ไม่ได้แข่งขันเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่แข่งกับแบรนด์ระดับโลก โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลมีเดียเข้ามาในตลาด ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของทั้งสององค์กรเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ

พร้อมกันนี้จะเห็นได้ว่ารายได้ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือลดลงทุกรายในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่การลงทุนสูงขึ้น เพราะต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็น 5G และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต ดังนั้นการควบรวมจึงเป็นการรวมตัว เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น และมีศักยภาพแข่งขันในตลาดที่ดีขึ้น

การควบรวมครั้งนี้ถือเป็นการควบรวมอย่างเท่าเทียมกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายถือหุ้นในบริษัทใหม่ ฝ่ายละประมาณ 30% ทั้งสองฝ่าย ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ และไม่ใช่การซื้อกิจการ จึง ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกสทช. ตามประกาศกสทช. ปี 2561 ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่ว่า กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไขที่จะลดผล กระทบในทางลบ และสร้างผลประโยชน์ในทางบวกจากการควบรวมนี้

“พิจารณาจากที่ผ่านมา การควบรวมกิจการในประเทศไทย อาทิ การควบรวมระหว่าง TOT-CAT ซึ่งเป็น NT ในปัจจุบัน สามารถชี้ชัดได้เลยว่า เป็นการควบรวมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และทำได้โดยไม่จำเป็นต้อง ขออนุมัติจาก กสทช. ซึ่งแตกต่างจากดีลของเอไอเอส-3BB เป็นการซื้อกิจการ”

ขณะนี้ทั้ง 2 บริษัท ทรูและดีแทค ยังอยู่ระหว่างการรอทางกสทช. กำหนดเงื่อนไข ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมภายในระยะเวลา 90 วัน หลังจากที่บริษัทได้เสนอผู้ถือหุ้น ทั้งทรูและดีแทค เพื่อขอความเห็น ซึ่งเกินกว่า 90% ให้ความเห็นชอบ และศึกษารายละเอียดการควบรวมไปเกือบ 100% แล้ว

รวมถึงได้ยื่น Filling พร้อมด้วยแผนธุรกิจและข้อมูลทุกอย่างไปตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2565 ตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ กสทช. ซึ่งควรจะได้ข้อสรุปตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังติดขัดในเรื่องขั้นตอนการกำกับดูแลจาก กสทช.

ศุภชัย เจียรวนนท์

“กรอบระยะเวลาได้เลื่อนมาพอสมควรแล้ว แต่เนื่องจากเห็นว่า กสทช.ชุดใหม่ และอยากจะเห็นว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นเร็ว รวมถึงอยากให้ดำเนินการไปตามครรลองของกฎหมาย กรอบเวลา และเงื่อนไขต่างๆ ที่กฎหมายที่ได้ร่างไว้ เข้าใจว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและต้องให้เวลา แต่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาเดิมแล้ว จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงกองทุนระดับโลก และยังจะส่งผลให้การลงทุนเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้านั้นล่าช้าลงไปด้วย”

ดังนั้นทางกสทช. จึงควรเดินหน้าพิจารณาเงื่อนไขทันที ก่อนเลยกรอบกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยทางทรูและดีแทค พร้อมทำงานกับกสทช. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการควบรวม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศจากการเกิดเป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเครือข่ายเร็วแรงและครอบคลุมที่สุดในไทยและในอาเซียนจาก 49,800 ฐาน รวมถึงนวัตกรรมและโซลูชั่นจากเทคโนโลยีใหม่ เพื่อส่งเสริมสตาร์ตอัพ

ผู้บริหารทรู-ดีแทค

เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ ไทยจะยิ่งเสียโอกาสทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคมากขึ้นเท่านั้น ในส่วนของความกังวลเรื่องราคาค่าบริการนั้น กสทช. ยังคงควบคุมค่าบริการพื้นฐาน และมีกลไกตลาดกำกับอยู่แล้ว ในทางกลับกันการมีผู้เล่น 2 รายที่แข็งแกร่ง น่าจะทำให้การแข่งขันมากขึ้นด้วย แทนที่จะแข็งแกร่งเพียงรายเดียว ก็จะทำให้การแข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วย”

“ส่วนความกังวลหลังจากการควบรวมนี้เกิดขึ้นถึงการปลดพนักงานทั้งสองบริษัทนั้น จะไม่มีการปลดพนักงานออกอย่างแน่นอน เพราะเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปในอนาคต” เป็นคำยืนยันจากนายศุภชัย

 

ด้ านนายซิคเว่ ซีอีโอ เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย จะเกิดบริการใหม่ๆ ที่หลากหลายในราคาที่เหมาะสม การลงทุนไม่ซ้ำซ้อน มีเครือข่ายที่ครอบคลุม มีคุณภาพเพื่อให้บริการ ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม-เทคโนโลยี โดยการรวมพลังของ 5G IoT AI เพื่อพัฒนาประเทศไทย

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสตาร์ตอัพ แต่ประเทศไทยกลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาเลเซียและเวียดนาม โดยเป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาค มีการลงทุนสูงสุดในสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564 แต่ส่วนแบ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 3% ในปี 2564 ซึ่งต้องให้ความสำคัญใน การลงทุนเพิ่มขึ้น

หนึ่งในแนวทางสนับสนุนคือการจัดตั้งกองทุน Venture Capital Funding คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 7,300 ล้านบาท (200 ล้านเหรียญ) ในการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ และในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ ยังสามารถดึงนักลงทุนต่างๆ จากทั่วโลกมาได้ ไปถึง 800-1,000 ล้านเหรียญ เป็นการผสานจุดแข็งของซีพี และเทเลนอร์ กรุ๊ป เข้าด้วยกัน ซึ่งมีโอกาสสร้างความมั่นใจ และดึงเงิน ทุนอื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วมได้

 

“ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ธุรกิจ สตาร์ตอัพจะเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค ร่วมกับ การสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่จะเข้าถึงฐานลูกค้าในระดับภูมิภาค และระดับโลก จากจุดแข็งของทั้งซีพี และเทเลนอร์ที่โดดเด่นในตลาดโลกอยู่แล้วมาช่วยนำพา ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลก”

ขณะเดียวกันผู้บริหารทั้งสองคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปเงื่อนไขการควบรวมจาก กสทช. ภายในเดือนก.ย. 2565 นี้ เพื่อเดินหน้าต่อไป

หลัง 2 บริษัทออกมาแถลงข่าว ทางฝั่งของหน่วยงานที่กำกับดูแล ได้ออกมาแสดงความชัดเจนทันที โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การสรุปผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ 4 คณะที่แต่งตั้งโดย กสทช. เพื่อศึกษากรณีการขอควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค

ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. กำลังรวบรวมข้อมูลรายงานความเห็นของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนความเห็นของที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเห็นของสำนักงานฯเสนอที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค. 2565

ไม่ว่าบทสรุปดีลยักษ์นี้จะออกมาอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นต้องสร้างความ เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคแบบที่ควรจะเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน