พลังงานแพง-พาณิชย์ขยับคาดการณ์ทั้งปีเพิ่ม

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนก.ค.อยู่ที่ 7.61% มาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน อาหาร และเครื่องดื่มปรับราคาเพิ่ม ยอมปรับเป้าทั้งปีนี้เงินเฟ้อพุ่ง 6.5%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนก.ค. 2565 ว่า อยู่ที่ 7.61% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.16% ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนอยู่ที่ 5.89%

ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงสูง เนื่องจากสินค้ากลุ่มพลังงานซึ่งมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 52.57% มีราคาปรับเพิ่มขึ้น 33.82% และแม้ว่าน้ำมันบางชนิด เช่น แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินจะปรับลดลง แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังสูงขึ้น เพราะน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งค่าไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนต่อผลกระทบ 3.85% ปรับราคาเพิ่มขึ้นรวมไปถึงราคาแก๊สหุงต้ม

ขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับเพิ่มขึ้น 8.02% โดยหมวดอาหารสดราคาปรับเพิ่มขึ้น 7.76% อาทิ เนื้อไก่ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ปรับขึ้น 13.68% เครื่องประกอบอาหาร 11.58% ผักสด 8.80% อาหารบริโภคภายในบ้านเพิ่มขึ้น 8.71% อาหารบริโภคนอกบ้าน 8.43% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 4.34%

นายรณรงค์กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนส.ค. ว่า หากราคาพลังงานปรับสูงขึ้นเงินเฟ้อก็อาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้าราคาพลังงานทรงตัวเงินเฟ้ออาจจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สนค. ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 จากเดิม 4-5% เป็น 5.5-6.5% ภายใต้สมมติฐานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับที่สอดคล้องกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. 2565 สูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 6.3% เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทอ่อนค่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนก.ค.ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการท่องเที่ยว และการเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน