ทางลง‘บิ๊กตู่’-นายกฯครบ8ปี

รายงานพิเศษ

หมายเหตุ – นักวิชาการ แสดงความคิดเห็นในประเด็นข้อถกเถียงของสังคม ถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.นี้หรือไม่ พร้อมเสนอแนะทางออกว่าควรเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เรื่องนายกฯ 8 ปีที่จะครบวาระวันที่ 24 ส.ค.นี้ พิจารณาได้หลายมุม ซึ่งผมไปลงชื่อในคณะ 99 คน เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณาลาออก

ส่วนตัวมองไปในทางรัฐศาสตร์ ในประเทศอารยะ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขามีสปิริตในการปกครอง เมื่ออยู่ในตำแหน่งมา 8 ปีแล้ว สังคมไทยก็คิดใน 2 มุมใหญ่ มุมแรกคือ อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดบริหารประเทศ เพราะเป็นนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว และตอนนี้ปี 2565 ซึ่ง 8 ปีพอดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 185 วรรคท้าย ระบุว่า นายกฯ ต้องดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี

คนกลุ่มหนึ่งมองว่า ครบ 8 ปีแล้ว แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มองว่า กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญออกปี 2560 ก็ต้องเดินหน้า และให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อีก 1 วาระ

จึงต้องทำไม่ให้เกิดความแตกแยกทางความคิด แน่นอนว่า ต้องเดินไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอย่างไร จะย้อนหลังหรือไปข้างหน้า

ส่วนตัวมองว่า การตีความการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการวางบรรทัดฐานทางการเมืองว่า ต่อไปใครจะมาเป็นนายกฯ ก็เอาตรงนี้มาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อจะอยู่ในการเมืองระยะยาว

ความกังวลใจที่เกิดขึ้นตอนนี้ รัฐบาล หรือคนที่อยู่ร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 3 ป. กำลังทำทุกวิถีทางที่จะสืบทอดอำนาจโดยใช้กลไกทั้งหมด แล้วทำลายระบบทางการเมืองอย่างย่อยยับ เช่น ส.ส.ทำให้สภาล่ม เมื่อการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อต่อรองระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบและสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้ว่าสังคมโตขึ้น และไม่ประเมินความรู้สึกของสังคมเลย

ดูได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ตอบไม่ได้ แต่พล.อ.ประวิตรได้คะแนนสูงสุด ซึ่งย้อนแย้งมาก หากให้พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อ จะทำให้กลไกทางการเมืองบิดเบี้ยว เอื้อต่อพวกพ้องโดยไม่สนใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ของสังคม

ทางออกที่ดี คิดว่ารัฐบาลต้องประเมินทางนิติศาสตร์ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และรัฐศาสตร์ในแง่จริยธรรมทางการเมือง และประเมินหนทางที่ดีเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยไว้ ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกคิดว่าประเทศขาดพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ เพราะ 8 ปี ประชาชนเห็นฝีมือพอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ เชื่อว่าฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน แต่จะยื่นเวลาไหน ต้องดูกลไกและสถานการณ์การเลือกตั้ง

หากหลังวันที่ 24 ส.ค.แล้ว ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลาออก ก็คิดว่าแรงกดดันที่คณะทั้ง 99 คนดำเนินการอยู่ จะถูกส่งต่อไปยังสังคม และสังคมจะไปกดดันพล.อ.ประยุทธ์ อีกที แต่ดูจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้แล้ว เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมลาออก

ดังนั้น ก็ต้องยึดตามหลักนิติศาสตร์ รอศาลพิจารณา ถ้าศาลบอกว่าไปต่อได้ก็ไป แต่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะประชาชนรับไม่ได้กับท่าทีทางการเมืองแบบนี้ และ ถ้าสังคมรับลูกฝ่ายค้านก็ได้เปรียบไปโดยปริยาย

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

เรื่องการตีความถึงความสิ้นสุดลงของการเป็นรัฐมนตรี และมีการพูดถึงมาตรา 158 คือเรื่องนายกฯ 8 ปีเอาไว้นั้น ในมาตรา 170 ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ 2 ทาง คือ กลไกตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ให้ส.ส.หรือส.ว. ที่มีจำนวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของรัฐสภา ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้

หรืออีกช่องทางหนึ่งคือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถยื่นเองได้ด้วย ดังนั้น จึงมีอยู่ 2 ช่องใหญ่ๆ ที่ดำเนินการได้

ส่วนทางออกตอนนี้ มีแนววินิจฉัยอยู่ 3 แนว คือ 1.การวินิจฉัยว่านับ 8 ปีนั้น นับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นการนับตามข้อเท็จจริง และในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ไปรับรองคณะรัฐมนตรีที่บริหารอยู่ในวันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ประกาศด้วย ดังนั้น ถ้านับปี 57 ก็จากครบในปีนี้

2.นับตั้งแต่ปี 60 เพราะตรงนี้เกิดขึ้นจากในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ก็มีการเขียนเรื่องนายกฯ 8 ปีไว้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ตกลงแล้วการนับอย่างต่อเนื่อง หรือเว้นวรรคในเรื่อง 8 ปี กระทั่งมาเขียนในฉบับปี 60 อย่างชัดเจนว่า ให้นับทั้งหมดอย่างต่อเนื่องหรือจะเว้นวรรคก็ตาม ดังนั้น หมายความว่าจะต้องเริ่มจากปี 2560 เป็นหลัก ซึ่งหากวินิจฉัยตามแนวนี้ ก็จะไปครบในปี 2568

3.มีวินิจฉัยเหมือนกันว่า จะต้องนับตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากมาตรา 158 เป็นมาตราที่พูดถึงเรื่องของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ เป็นเรื่องของการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง ฉะนั้น ในมาตรา 158 จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาตามมาตรา 158 วรรคหนึ่ง นั่นคือ การเลือกของสภาผู้แทนราษฎร เลยให้นับตั้งแต่ปี 62 ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือลุงตู่มี 2 คน คนหนึ่งเป็นลุงตู่ ที่ไม่ได้มาโดยส.ส. อีกคนหนึ่งคือลุงตู่ ที่มาโดยการเลือกของส.ส. คือต้องหลังปี 62

ดังนั้น ถามว่าวินิจฉัยแนวไหน ก็ต้องบอกว่า มันออกได้ทั้ง 3 แนว เพราะกฎหมายเขียนไม่ชัด

นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวางบรรทัดฐานในการวินิจฉัยตีความว่าจะใช้แนวไหน ถ้าแนวที่ 1 ปี 57 ก็จะเป็นการยึดใน ข้อเท็จจริงเป็นหลัก แนวที่ 2 ปี 60 อันนี้คือยึดเรื่องความมั่นคงหลักกฎหมาย แนวที่ 3 คือยึดการตีความเคร่งครัดตามตัวอักษร จึงขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่า จะวินิจฉัยแนวไหนนั่นเอง

ส่วนตัวเห็นว่า ฝ่ายค้านควรยื่นตีความ แม้จะบอกว่าการยื่นนั้น จะกลายเป็นว่าการไปฟอกให้กับนายกฯ เพราะมีแนวโน้มที่จะบอกว่านายกฯ น่าจะผ่านได้ หรืออะไรต่างๆ ก็ตาม แต่คิดว่าจะเป็นความชัดเจนมากกว่า และจากนี้ไป หากมีการวินิจฉัยออกมา ก็จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง ตรงนี้ฝ่ายค้านน่าจะทำหน้าที่ให้ชัดเจนในฐานะฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 24 ส.ค. แน่นอนว่าแรงกดดันไปอยู่ที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม และวันนี้ยังไม่ถึง 24 ส.ค. ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้กันแล้ว ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องได้รับแรงกดดันนี้อยู่แล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าท่าน ไม่ตัดสินใจลาออก ก็อยู่ไปอย่างนี้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยในทันที แม้จะมีผู้ไปยื่นก็ตาม ต้องรออย่างน้อย 2-3 เดือนถึงจะวินิจฉัย นี่คืออย่างเร็วที่สุด

ผมมองว่า นายกฯ ควรหาทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องลาออก หรือตัดสินใจยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน ไม่ต้องรอคำวินิจฉัย 8 ปี เพราะมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางการเมือง หรือภาวะเศรษฐกิจ อะไรต่างๆ ดังนั้น วันนี้ควรตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งจะดีกว่า ไม่ต้องรอให้มีคำวินิจฉัย

ผมอยากบอกนายกฯ ว่า ลาออก หรือยุบสภาเถอะ เพราะวันนี้ปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง มันเป็นปัญหาสำคัญของ นายกฯ และเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยคสช. และมาสู่หลังเลือกตั้ง 2562

ปัญหาความชอบธรรมนำมาซึ่งประสิทธิภาพของรัฐบาล และหลายกรณีถูกวิจารณ์ ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข

วันนี้ประชาชนมีความหวังอยู่กับการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงนโยบาย ความเปลี่ยนแปลงทางการบริหาร หรือที่เรียกว่า โหวตฟอร์เชนจ์ ตรงนี้ผมคิดว่าดีที่สุดของนายกฯ คือ ถ้าเป็นไปได้คือยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เพราะท่านเองก็กลับมาเป็นแคนดิเดตได้อีก ไม่มีข้อห้าม

เมื่อถึงตอนนั้นถ้ามีเรื่องของ 8 ปี ก็ต้องมาว่ากันอีกทีว่า ท่านเป็นได้หรือไม่ได้ แต่ในแง่ของสิทธิ์ของแคนดิเดต ยังลงสนามเลือกตั้งได้ ฉะนั้น ยุบสภาวันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหวังกับการเมือง

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยใส่หลักอยู่เกิน 2 สมัย หรือ 8 ปีไม่ได้ เมื่อใส่ไปแล้ว เขาก็ลืมเขียนข้อยกเว้นไว้ด้วย เพราะโดยเจตนารมณ์แล้ว เขาย่อมต้องการเขียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หรือ คสช.สืบทอดอำนาจต่อแน่นอน

เมื่อเขาลืมโดยไปเขียนว่านายกฯ ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัยหรือ 8 ปีไม่ได้ พอเขียนบทเฉพาะกาลก็เอาสูตรเดิม เข้ามา โดยไม่ได้เขียนยกเว้นไว้ว่า ไม่ให้นับรวมนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฝ่ายที่เขาเห็นว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. ก็ดำรงตำแหน่ง ต่อไปไม่ได้ เพราะข้อห้ามนี้กำหนดไว้ชัดเจนมาก

โดยเฉพาะเมื่อบทเฉพาะกาลระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตั้งแต่สมัย คสช. และเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย ดังนั้น จะไปหาเหตุผลอะไรมาอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็คือส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพราะมีหลายเรื่องนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เช่น การกระทำต่างๆ ที่เคยทำไว้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ระบุชัดเจนว่า ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด

ดังนั้น การที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็ถือเป็นนายกฯ ที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ต้องถือว่าครบวาระแล้ว เป็นข้อห้ามที่ทำให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปไม่ได้ ในเมื่อ ไม่ได้เขียนข้อยกเว้นไว้ จะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ส่วนฝ่ายที่มองว่าพล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ ต่อไปได้ โดยเฉพาะทีมที่ปรึกษากฎหมายของนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เคยให้ความเห็นว่ากฎหมายจะย้อนหลังไม่ได้นั้น ผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นเรื่องกฎหมายย้อนหลัง ผมมองว่าเป็นเรื่องของการเดินไปข้างหน้าด้วยซ้ำ เพราะบทเฉพาะกาลเขียนไว้แบบนี้ เอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วให้มันเป็นปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะลาออกตามที่หลายฝ่ายเสนอ เพราะหากยังเป็นนายกฯ ต่อไป และมีการไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามเหตุผลที่ผมกล่าวมา อะไรที่เกิดหลังวันที่ 24 ส.ค. จะเกิดเป็นปัญหาทางกฎหมายตามมามากมาย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีอำนาจในตำแหน่งนายกฯ แล้ว บ้านเมืองก็จะเกิดปัญหามากมาย

ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ ควรจะลาออก เมื่อมั่นใจว่าตัวเองจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีก ก็ยุบสภา ลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด

หรือหากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อาจจะมีข้อสงสัย ก็ทำให้ชัดเจนไปเลย พล.อ.ประยุทธ์ก็สั่งให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียเลย ไม่ต้องไปรอให้ฝ่ายอื่นยื่น หากตนเองบริสุทธิ์ใจจริง ทำเองได้ ก็ควรทำเองดีที่สุด รีบยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนครบวันที่ 24 ส.ค.ด้วย เพื่อให้ทุกอย่างสมูธ สร้างความชอบธรรม ลดแรงกดดันและแรงเสียดทานไปด้วย

ดังนั้น ไม่ต้องไปรอให้คนอื่นยื่นตีความในเมื่อมีข้อทักท้วงขนาดนี้ ตัวเองเป็นรัฐบาล ถ้าเชื่อมั่นว่าตัวเองยังอยู่ต่อไปได้ ยังไม่ครบวาระ ก็จัดการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน