ดันสินค้าชุมชนไปนอกนำร่องกระเทียม-โคขุน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา โปรโมตสินค้าจีไอผ่านเมนูมิชลิน หวังขยายฐานสินค้าชุมชนไทยในตลาดต่างประเทศ นำร่องวัตถุดิบปรุงอาหารจากอีสาน 3 รายการ กระเทียมศรีสะเกษ-ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์และเนื้อโคขุนโพนยางคำ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย จัดทำโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าจีไอ ผ่านเมนูอาหารที่ปรุงโดยเชฟมิชลินชั้นนำประจำร้านอาหารมิชลินในประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ส่งเสริมสินค้าจีไอ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย

เบื้องต้นนำร่องคัดเลือกสินค้าจีไอจากภาคอีสาน 3 รายการคือ 1.กระเทียมศรีสะเกษ 2.ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ และ 3.เนื้อโคขุนโพนยางคำ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำอาหารผ่านเชฟมิชลินที่มีชื่อเสียง จำนวน 2 คน จากร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในไทยได้แก่ chalee kader แห่งร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ที่สี่พระยา และเชฟ David Hartwig แห่งร้าน IGNIV สาขากรุงเทพฯ

“เดือนส.ค.นี้กรมจะสามารถลงนามว่าจ้างเอกชนให้ดำเนินโครงการได้ ตั้งเป้าหมายเริ่มโปรโมตโครงการในเดือนก.ย. โดยจะจัดทำเป็นวีทีอาร์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของมิชลิน รวมทั้งช่องทางอื่นๆ เชื่อว่าจะสามารถขยายโอกาสด้านการตลาดให้กับสินค้าจีไอของไทยได้มากขึ้น”

สำหรับกระเทียมศรีสะเกษมีจุดเด่นเป็นกระเทียมพันธุ์พื้นเมือง ที่เปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบางหัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน ส่วนข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีจุดเด่น แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปี เพาะปลูกบนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้เมล็ดข้าวเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง ขณะที่เนื้อโคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูงที่ผลิตจากโคเนื้อลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ยุโรปกับพันธุ์พื้นเมือง ผ่านกระบวนการเลี้ยงการแปรสภาพและตัดแต่งอย่างถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล และตามข้อกำหนดของสหกรณ์ฯ โพนยางคำ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน