หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก และยังโดดเด่นกับตลาด ผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าขยายบริการในภูมิภาคเพื่อเชื่อมต่อโอกาสให้แก่ธุรกิจไทย โดยนำคณะสื่อมวลชนร่วมพิธีเฉลิมฉลองการเปิดธนาคารกสิกรไทย สาขาโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อย่างเป็นทางการ เดินหน้าสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาคประชาคมอาเซียน(AEC+3) ส่งมอบบริการเข้าถึงผู้ใช้งานในท้องถิ่น

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารเตรียมงบลงทุน 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 ภายใน 3 ปีต่อจากนี้

ขัตติยา อินทรวิชัย

ซึ่งธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาค AEC+3 ด้วยยุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy เน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยการเข้าซื้อกิจการและลงทุนร่วมกับ สตาร์ตอัพในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงานในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้ธนาคารมีความรุดหน้าด้านเครือข่ายและเทคโนโลยีบริการที่ตรงใจผู้ใช้งานได้มากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ผสาน 3 จุดแข็ง ความสัมพันธ์ลูกค้า-พันธมิตร-เทคโนโลยี ได้แก่

1.รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุนและลูกค้าท้องถิ่น

2.ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร (Mass Acquisition Play) เน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform

และ 3. พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้น และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas) ได้

พิพิธ เอนกนิธิ

 

ด้าน นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้า คาดว่าภายใน ปี 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588

เวียดนามมีความได้เปรียบด้านความตกลงทางการค้า ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ดี มีข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน รวมทั้งข้อตกลงทางการค้าเสรี 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam) ดึงดูดนักลงทุนที่เน้นการส่งออก ประกอบกับแนวโน้มการกระจายความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนจากสงครามการค้า ทำให้เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติชั้นนำทั่วโลก

 

สอดคล้องกับเวียดนามมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี” แห่งใหม่ของเอเชีย ในขณะที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน มีการเติบโตของชนชั้นกลางอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตของการอุปโภคบริโภคที่ 7% ใน 3 ปีข้างหน้า ทั้งยังเปิดกว้างต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายทางดิจิทัล โดยพบว่าประชากรเวียดนามมากกว่า 50% ซื้อสินค้าออนไลน์

 

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตของภูมิภาค มีปัจจัยสนับสนุน คือ ตลาดแรงงานขนาดใหญ่และสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ใกล้ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และมีเสถียรภาพทางการเมือง

ด้านการส่งออกสินค้าเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่ส่วนใหญ่ผลิตโดยกิจการของนักลงทุนต่างประเทศ ได้แก่ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องจักรและส่วนประกอบ ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศมีศักยภาพที่ดีในเวียดนาม

ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุดในอาเซียน สินค้าสำคัญประกอบด้วยรถยนต์ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไทย ส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังเวียดนามมากกว่าสินค้าขั้นสุดท้าย แต่สัดส่วนของสินค้าขั้นสุดท้ายที่เวียดนามนำเข้าจากไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วยสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและสินค้าฟุ่มเฟือย

 

ดังนั้นการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและตลาดผู้บริโภคของเวียดนามที่กำลังอยู่ระหว่างการขยายตัว เนื่องจากมีความต้องการเงินทุนและสินค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นโอกาสของนักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ที่สำคัญชาวเวียดนามให้การยอมรับสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย เพราะเห็นว่ามีคุณภาพดีและมีราคาไม่สูงเกินไป การออกแบบของสินค้าไทย เช่น เครื่องสำอางระดับบน ของว่าง และเครื่องแต่งบ้าน มีความแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในเวียดนามและจีน

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำ “ดิจิทัล โปรดักส์ โซลูชั่น” เต็มรูปแบบ ให้บริการลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก โดยผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน

ขณะเดียวกัน พร้อมนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของไทย ไปต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ และการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล

 

เริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่นผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค

นายพิพิธกล่าวด้วยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดของเวียดนาม พร้อมบริการดิจิทัล ที่เชื่อมต่อเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางธนาคารและแพลตฟอร์มพันธมิตรครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ของธนาคารในการก้าวเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวิธีการแบบชาเลนเจอร์แบงก์ ที่เน้นความคล่องตัวสูงและเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี

“ธนาคารเชื่อมั่นว่าจะสามารถเชื่อมต่อบริการธนาคารสู่ลูกค้าท้องถิ่นในเวียดนามได้ในวงกว้าง สะดวก รวดเร็ว และตรงความต้องการ ตั้งเป้าหมายลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.2 ล้านรายในปีหน้า พร้อมขยายผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศ อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง

โดยสาขานครโฮจิมินห์เป็นสาขาล่าสุด ตั้งอยู่ที่เขต 12 ในเมือง โฮจิมินห์ซิตี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน