หมายเหตุ – นักวิชาการ แสดงความเห็นต่อกรณีเหตุการณ์สภาล่ม ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่) พ.ศ… เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเตะถ่วงให้ ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวไม่ทันกรอบ 180 วัน หรือวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อกลับไปใช้สูตรคำนวณส.ส.ระบบบัญชี รายชื่อ หารด้วย 100

สติธร ธนานิธิโชติ

ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

สถาบันพระปกเกล้า

เหตุการณ์สภาล่ม ในการลงมติร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ผมมองว่าจุดมุ่งหมายคือไม่ต้องการให้ทันเวลา 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค. เพื่อให้กฎหมายตกไป เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนว่ากรณีของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐสภาพิจารณาไม่ทัน ให้ถือว่าเห็นด้วยกับร่างที่เสนอมาตั้งแต่แรก

วิธีนี้เป็นวิธีที่เร็วสุด ถ้าต้องการใช้สูตรคำนวณ ส.ส. แบบหาร 100 ที่เสนอมาตั้งแต่แรกแล้วมาแก้เป็นหาร 500 เพราะวิธีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย ร่างที่พิจารณาอยู่นี้ เมื่อไม่ทัน เท่ากับว่าเห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) เสนอมาตั้งแต่ต้นและสามารถนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ จะใช้เวลาเร็วสุด

ส่วนที่มีคนเสนอว่า ทำไมไม่ใช้วิธีโหวตวาระ 3 ให้ร่างถูกตีตกไป ถ้าใช้วิธีนี้ต้องไปเสนอเข้ามาใหม่ทำให้เสียเวลา เพราะเป้าหมายของเขาต้องการสูตรหาร 100 และให้พิจารณาเร็วที่สุด วิธีการทำให้ล่ม คือวิธีที่เร็วสุด คิดกันมาแล้ว โดยเฉพาะคนที่อยากได้สูตรหาร 100 ส่วนคนที่อยากได้หาร 500 ก็เข้าประชุมไป

หากไปใช้ร่างเดิมของกกต. จะใช้เวลาดำเนินการแค่ 15 วัน ที่กกต.จะพิจารณา ซึ่งเงื่อนไขนี้จะคล้ายกับการโหวตผ่านวาระ 3 คือส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. เพื่อถามว่าใครมีประเด็นที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มีใครเห็นแย้ง ก็เดินหน้าต่อและนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ถ้ามีคนเห็นแย้งก็นำกลับมาพิจารณากันใหม่ ซึ่งมองว่าถ้าจะมีคนเห็นแย้ง ก็เหลือแค่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่แนวโน้มขณะนี้ ไม่ได้ส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะไปกกต.

ในเมื่อกกต.เป็นคนเสนอร่างมาเอง คงไม่ต้องส่งกลับไปอีก หรืออาจจะส่งกลับไปพอเป็นพิธี โดยเงื่อนเวลา 15 วันบวกกับการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 90 วัน วิธีนี้เร็วกว่าการจะไปลงมติในวาระ 3 และรอกกต.ส่งกลับ

หากมีการแก้ไขก็ต้องรอเวลา แยกเป็น 2 ล็อก คือ รอเวลา 15 วันที่กกต.ส่งความเห็นกลับและรัฐสภาพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับที่ส่งกลับมา หรือยืนยันความเห็นของตัวเองภายใน 30 วัน ดังนั้น วิธีทำสภาล่มจะเร็วกว่าและย่นระยะเวลาไปหนึ่งเดือน

ส่วนที่มองว่าเจตนาทำให้สภาล่ม มีนัยยะหรือเจตนาทำให้เกิดสายล่อฟ้าให้นายกฯ ยุบสภานั้น ผมมองว่าคงไม่ขนาดนั้น ในเมื่อกฎหมายอาจเสร็จเร็วและมีกติกาเลือกตั้งแล้ว แต่นายกฯ จะมาบอกว่าดูแล้วสภาพิจารณาไม่เสร็จ ทำประชุมล่มให้สภาดูไม่ดี มาเป็นเหตุยุบสภาเลยแล้วกัน คงไม่ถึงขนาดนั้น

โดยเฉพาะพรรคของนายกฯ ไม่น่าจะพร้อมเลือกตั้ง ฉะนั้น ยังไม่น่าจะยุบ ขณะที่ประเด็นอื่นที่ เช่น งบประมาณปี 2566 ผ่านวาระ 3, การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในเดือนก.ย.ผ่าน แล้วจะมาอ้างว่าเหตุสภาล่มตอนเดือนส.ค. แล้วไปยุบสภาเดือนก.ย.ก็จะตลกไป

ข้อดีและข้อเสีย ที่จะกลับไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาล ข้อดีคือ ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะกกต. เป็นคนที่เสนอร่างมาเอง น่าจะทำงานได้สะดวก ส่วนข้อเสีย ไม่ได้เสียที่เนื้อหาที่จะกลับไปใช้ร่างที่หารด้วย 100 แต่เป็นการเสียหายกับภาพลักษณ์และความสง่างามของสภา ที่ทำให้สภาล่ม เจตนาให้พิจารณาไม่ทัน 180 วัน เพื่อให้ได้ตามสูตรเลือกตั้งที่ตัวเองต้องการ คือหาร 100 โดยทำทุกวิถีทาง

อีกทั้งสมาชิกสภาส่วนหนึ่งไม่อยากไปทางไกล เพราะต้องการใช้ทางลัด แม้วิธีจะทำให้ตัวเองเสียภาพพจน์ไปก็ตาม ทั้งที่จริง ถ้าเดินไปตามเส้นทางที่ควรจะเป็น โดยลงมติแล้ว กลับมาใช้สูตรหาร 100 ก็ทำได้เหมือนกัน เพียงแต่ใช้เวลานานกว่า แต่จะสง่างามกว่า

วันวิชิต บุญโปร่ง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

การทำให้สภาล่มเพื่อให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไม่ทันกรอบ 180 วันนั้น ผมมองว่าเขาไม่มีอะไรจะ เสียหน้าไปมากกว่านี้อยู่แล้ว ยอมโดนด่าทีเดียว ดีกว่าอยู่ในที่ประชุมแล้วกลับลำไปสู่การไม่เอาหาร 500 เพราะเดิมพรรค ตัวตั้งตัวตีที่จะเอาหาร 500 คือพรรครัฐบาล และส.ว. หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้เสียหน้ามากกว่า

แต่หากยอมอ้างด้วยแท็กติกว่า ติดประชุม หรือมีกิจกรรมทางการเมืองภายนอกสภา ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ากระแสสังคมสาปส่งอย่างไร อย่างน้อยก็ดีกว่าที่ตัวเองเสียหน้า ที่จะเข้าไปประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายที่เคยสนับสนุนแล้วจะกลับมาคัดค้าน พูดง่ายๆ ว่าสภาวะเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาคือ ต้องยอมกลืนเลือดกันไป

การต่อสู้ของพรรคเล็ก คงไม่จบเพียงเท่านี้ คงยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ เพื่อไม่ให้ล่าช้า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คงหยิบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านวาระแรก มาปัดฝุ่นสูตรหาร 100 มาใช้อีกครั้ง

มองว่าขณะนี้คงจะสมประโยชน์ของพรรคใหญ่ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย และภูมิใจไทย ที่กลับมาใช้สูตรหาร 100 เพราะเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ความเป็นไปได้ทางการเมืองว่า โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้เก้าอี้จากบัญชีรายชื่อจะมีมากกว่าพรรคเล็ก ซึ่งสมประโยชน์กับทุกฝ่าย และแน่นอนว่า สูตรหาร 100 เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากกว่า

แต่ไม่ว่าจะใช้สูตรหารจำนวนเท่าใด นักการเมืองเขารับมือได้หมด เพราะต้องเตรียมความพร้อม เพียงแต่สูตรหาร 100 จะทำให้พรรคขนาดใหญ่จัดทัพได้ง่ายกว่า เพราะหากใช้ 500 หาร จะเกิดความยุ่งยาก มีโอกาสที่จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่ากับว่าบังคับให้บ้านใหญ่หรือส.ส.ที่เก๋าพรรษาต้องรับประกันความชัวร์ด้วยการลงส.ส.เขต

แต่หากเป็นสูตรหาร 100 มันทำให้ง่ายขึ้นเพราะบุคคลที่มีชื่อเสียงขายได้ หรือบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัด จะขึ้นชั้นระบบปาร์ตี้ลิสต์ และการจัดส.ส.เขต อาจจะเป็นลูกหลานของบ้านใหญ่หรือเครือข่ายที่อยากลิ้มรสประสบการณ์ทางการเมืองครั้งแรก ก็จะถูกถ่ายไปลงส.ส.เขตแทน

นั่นคือความแตกต่างระหว่างสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 โดยเฉพาะพรรคใหญ่จะหายใจสะดวกมากกว่า วางยุทธศาสตร์ วางคนไปสู่การเลือกตั้งได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้การกลับไปใช้ร่างเดิมของกกต. ใช้สูตรหารด้วย 100 มีความเป็นธรรมและสมศักดิ์ศรีของคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ คะแนนเสียงค่อนข้างสูง มากกว่าแบบหาร 500 แน่นอน ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้จะไม่กลับไปบรรจบเหมือนในปี 2562 ที่บางพรรคได้เพียง 3 หมื่นเสียง ก็ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว ขณะที่บางเขตได้ 3 หมื่นเสียง ยังสอบตกด้วยซ้ำ

ดังนั้น การยอมรับของสังคม จึงไม่ตอบโจทย์ของวิธีการสูตรหาร 500 แต่สูตรหาร 100 ทำให้แต่ละพรรคระดมคนที่มีชื่อเสียงหรือผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมเข้ามาอยู่ระบบบัญชีรายชื่อ และมีโอกาสเข้ามาเป็นส.ส.

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการที่พรรคพลังประชารัฐ หวนกลับมาใช้สูตร 100 ไม่ได้เอื้อหรือยอมให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพราะเขารู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยในบางพื้นที่ขายไม่ได้ เช่น ภาคใต้ หรือกทม. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเอง มีความ เข้มแข็งในบางจังหวัด มีส.ส.ที่เป็นตระกูลทางการเมืองที่จะชนะยกจังหวัด

รวมถึงยังมีพรรคเครือข่ายที่เกิดขึ้นมาอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจมาป้อนส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.กทม. และส.ส.ภาคใต้ ซึ่งมาจากส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ย้ายมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เท่ากับ 2 พรรคนี้ตอบโจทย์กับการรองรับสูตรการหาร 100 มาก

อันที่จริงเสียงพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ชนะพรรคเพื่อไทย แต่หากรวบรวมแล้วได้มากกว่า 125 เสียง บวกกับเสียงส.ว. 250 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งในการโหวตนายกรัฐมนตรีต้องไม่ต่ำกว่า 375 เสียง เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

หากได้เสียงตามเป้า เท่ากับบีบบังคับให้พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือชาติไทยพัฒนา ต้องกลับไปเล่นเกมเดิมอีกคือ ร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป

ภุชงค์ นุตราวงศ์

อดีตเลขาธิการกกต.

หลังเกิดเหตุการณ์สภาล่มเมื่อ 10 ส.ค. เพื่อหวังให้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ไม่ทัน 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค. การเดินหน้าต่อจากนี้น่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย รัฐบาลต้องใช้ร่างแรกที่ครม.เสนอ โดยกกต.เป็นผู้ยกร่างและรัฐบาลเป็นผู้เห็นด้วย ซึ่งไม่มีทางอื่นแล้ว หากช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ไม่มีการประชุม โดยเฉพาะการประชุมรัฐสภานั้นยากมาก ส.ส.และส.ว.คงมีภารกิจ ยากที่จะมาร่วมประชุมให้มีเสียงในสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผมคิดว่าคงต้องเดิน ตามนี้

หากเทียบกรณีให้ร่างตกไปเพราะทำไม่ทันกรอบ180 วัน กับการเดินหน้าผ่านวาระ 3 แล้วรอให้กกต.ตีกลับมาเพื่อแก้ไขใหม่ ผมมองว่าวันนี้เราต้องพูดข้อเท็จจริงแล้วว่า ส.ส.และส.ว.ได้เลือกวิธีการตามมาตรา 132 ให้ร่างเสร็จไม่ทันกรอบ เราคงไม่พูดถึงการส่งกกต.แล้วถูกตีกลับ เพราะเหตุการณ์จบแล้ว ก็ต้องเดินหน้าตามข้อกฎหมายต่อไป

สำหรับเป้าหมายที่ทำให้สภาล่ม มีนัยยะอื่นหรือไม่นั้น เรื่ององค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของส.ว.และส.ส. แต่ละท่านก็มีวิจารณญาณ มีเอกสิทธิ์ มีพรรคและมีวิป ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย ท่านควรพิจารณาเพราะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้ามองจากคนภายนอกโดยเฉพาะประชาชน คงรู้สึกใจหาย เพราะการที่สภาล่ม ไม่ใช่ล่ม ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่ล่มครั้งที่ 6 หรือ 7 แล้ว

เราอยากให้เดินในเกมของกฎหมาย ความถูกต้อง ข้อเท็จจริงตามระเบียบของสภา ผมเชื่อว่าประโยชน์สูงสุดของส.ส.และส.ว. ไม่ใช่อยู่ที่พรรค แต่อยู่ที่ประชาชน ต้องดูประชาชนเป็นหลักด้วยว่าต้องการอะไร ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตย เป็นอย่างไรตรงนี้สำคัญกว่า

การทำให้สภาล่ม เพื่อทำให้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ไม่ทันกรอบ 180 วัน เพื่อให้กลับไปใช้ร่างเดิม กำหนดสูตร คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 นั้น หากมองแบบประชาชนทั่วไป ก็เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านแรก มองว่าทำไมต้องทำให้สภาล่มด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง เขาอาจเห็นคล้อยกับส.ส.และส.ว. ที่ต้องทำให้เสียงไม่ครบเพราะมองว่าการที่กำหนดให้หาร 500 มันไม่ถูกต้อง

ผมเรียนรัฐศาสตร์และทำงานเลือกตั้งมา ผมไม่เคยเห็นประเทศไหนที่มีพรรคการเมืองร่วมเป็นรัฐบาลถึง 19 พรรค ไม่มีแน่นอน มีที่ประเทศไทยในปี 2562 เท่านั้น ซึ่งมันจะยากมากในการทำงาน เราไม่ได้ว่าอะไรรัฐบาล เขาตั้งใจทำงาน ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป แต่องค์ประกอบของรัฐบาล ดูเหมือนไม่มีความเป็นเอกภาพเลย

ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูการประชุมรัฐสภาที่มีการนัด อีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค.นี้ว่าผลจะออกมาอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน