ธปท. โชว์ผลงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ฟันกำไร 6.47 หมื่นล้าน โต 7.2% ชี้ปล่อยสินเชื่อยังโตต่อเนื่องที่ 6.3% ส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 5.27 แสนล้าน มองขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน 3.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.6% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 9.09 แสนล้านบาท

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2565 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับ ปีก่อน จาก 6.9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงขยายตัว 3% แม้จะชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวตามความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนช่วงที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นจากความเชื่อมั่นของ ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้าน สินเชื่อรถยนต์ทรงตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อเพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/2565 ลดลงมาอยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.88%

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 จำนวน 6.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 7.2% โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองไว้ในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19 แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นโดยหลักจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้เงินปันผล

ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้อัตรา ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมา อยู่ที่ 1.11% จากไตรมาสก่อนที่ 0.87% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.51% จากไตรมาสก่อนที่ 2.45%

“ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น มองว่าไม่น่าจะทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนกลายเป็นหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL Cliff) แต่หนี้เสียจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น” น.ส.สุวรรณีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน