ฤดูฝนปีนี้ฝนตกมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา จนทำให้หลายพื้นที่ในประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ต้องเผชิญปัญหา น้ำท่วมหากฝนตกนานติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือหลายวัน

ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ‘ลานีญา’ ที่มักสร้างผลกระทบให้เกิดฝนตกจำนวนมาก และเสี่ยงเกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ ทำให้นักวิชาการหลายสถาบันออกมาเตือนว่าปี 2565 น้ำอาจท่วมใหญ่อีกครั้งในปลายปี

จนเกิดความกังวลและมีคำถามว่า “ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่?” เพราะแว่วมาว่าฝนที่ตกมาตลอดตั้งแต่ต้นปีเกินปริมาณค่าเฉลี่ยสะสม 30 ปี มากกว่า 24% แล้ว!

มาดูคำตอบกัน

โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ออกมา ระบุว่า จากอิทธิพล ‘ลานีญา’ ทำให้ปีนี้ฝนมาเร็วตั้งแต่ต้นปี โดยปริมาณฝนจากวันที่ 1 ม.ค. 2565-ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 16% จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าเฉลี่ยฝนตลอดทั้งปี 2565 ไว้ที่ว่าจะมากกว่าปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีอยู่ที่ 6%

ประพิศ จันทร์มา

ดังนั้นจากนี้ต่อไปเหลือเวลาเกือบ 5 เดือน มีความเป็นไปได้ทั้งน้ำฝนจะมาก หรือจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมนำบทเรียนจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มาประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อม

ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 29/2565 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน” ด้วย กอนช.ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20-22 ส.ค. 2565 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

นายประพิศกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 46,617 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61% ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 29,469 ล้านลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 12,285 ล้านลบ.ม. หรือ 49% ของความจุอ่างฯ รับน้ำได้อีกกว่า 12,586 ล้านลบ.ม.

คาดว่าเมื่อถึงวันที่ 1 พ.ย. จะเป็นการเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 9 พันล้านลบ.ม. ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 7.7 พันล้านลบ.ม

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมแผนรับมือ เพราะประเทศไทยมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ บางปีในฤดูแล้งก็มีน้ำท่วม กลายเป็น ความทุกข์ที่ประชาชนคนไทยต้องประสบ

ดังนั้นเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ประกอบด้วย 13 มาตรการ ที่หน่วยงานน้ำทั่วประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือน้ำหลากจากฝนตกในปริมาณมาก

โดย 13 มาตรการ กรมชลประทานเป็นเจ้าภาพอยู่ทั้งหมด 11 มาตรการ

อาทิ ทำแผนวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อรับมือน้ำหลาก เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำลำคลอง และพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น การกำจัดวัชพืช และการขุดลอกคูคลอง พร้อมทั้งได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องเครื่องไม้ เครื่องมือ และคันกั้นน้ำ ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

คุมเข้มมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 เพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการน้ำในฤดูฝน และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/66 โดยเฉพาะเครื่องมือจักรกล เครื่องสูบน้ำ ที่กรมชลประทาน มีจำนวนประมาณ 6,000 หน่วย ได้กระจายไปทั่วประเทศแล้วเพื่อรับมือฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่กรมอุตุฯ คาดว่าจะมีพายุฝนเข้ามาเป็นระลอก

เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve : URC) รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ หลายพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 2565

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

แต่ก็ยอมรับว่า กรมชลฯ อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ แหล่งน้ำ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำ 8 แห่ง มีปริมาณน้ำ มากกว่า 80% ของความจุ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างฯ

กรมจึงต้องประเมินการระบายน้ำเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ กรมชลประทานยังเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

รวมถึงเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือรวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

พร้อมๆ กับการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยเฉพาะน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมมีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,207 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ขยับการระบายน้ำมาอยู่ที่ 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์น้ำจากสถานี C2 นครสวรรค์ และมีการคุมการระบายน้ำออกทางซ้ายและขวาของเขื่อนไม่เกิน 200 ลบ.ม.ต่อวินาทีอยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้สามารถลดปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้

ปัจจุบันมีการปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อน ให้มากขึ้น หรือประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที พร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนให้ต่ำลงเพื่อให้มีช่องว่างในการรับปริมาณน้ำฝน ที่อาจจะตกเพิ่มอีกในช่วง 20-24 ส.ค. นี้

ซึ่งความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ประชาชนกังวลว่าอาจเป็นเหมือนปี 2554 นั้น ยืนยันว่าแม้ค่าเฉลี่ยฝนจะสูง แต่ไม่ซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน เพราะปี 2554 ที่น้ำท่วมเพราะมีพายุเข้าไทยติดต่อกันจำนวนมากถึง 4 ลูก

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันรวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงปลายเดือนส.ค.หรือช่วงวันที่ 20-24 ส.ค. 2565

โดยเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ใน 22 จังหวัด ทั่วประเทศ ดังนี้

ภาคเหนือ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.น่าน จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.อุตรดิตถ์ จ.ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ จ.นครพนม จ.บึงกาฬ จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด และ ภาคใต้ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา

โดยกำชับให้ชลประทานทุกจังหวัดเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา

ส่วนคนกรุงเทพฯ ที่กังวลคือ น้ำท่วมขัง อันทำให้เกิดการเดินทางสัญจรลำบาก กรมชลประทานและหน่วยงานน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ได้หารือ และเตรียมเครื่องมือ เพื่อรับน้ำหลาก น้ำขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้แล้ว หากฝนตกหนักนาน 24 ชั่วโมง แม้มีน้ำท่วมขังบ้าง

แต่เชื่อว่าเครื่องมือในการระบายน้ำจะสามารถจัดการได้ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน

ตั้งรับไว้แต่เนิ่นๆ จะได้ไม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว!

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน