ผ้าบาติก ถือเป็นมรดกล้ำค่าภูมิปัญญา แดนใต้ เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการเดี่ยว “SPIRITUAL ETERNITY” โดย นายฐากร ถาวรโชติวงศ์ ภาควิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่หอศิลป์ร่วมสมัย ราชดำเนิน แสดงผลงานสร้างสรรค์จากการดำเนินโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้า บาติกแดนใต้ สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายร่วมสมัย เผยแพร่งานวิจัยเรื่องกระบวนผลิต หรือเทคนิคการทำผ้าบาติกโดยการประยุกต์ใช้วัสดุที่มีอยู่รอบตัว เน้นการเรียนรู้กระบวนการผลิต เพื่อนำไปต่อยอดเรื่องการใช้สีและการพัฒนาลวดลายผ้าได้อย่างงดงาม

นายฐากรกล่าวว่า ผลงานวิจัยและงานด้านสิ่งทอที่นำมาจัดแสดงมีทั้ง ผลงานที่พัฒนาให้ผู้ประกอบการ ผลงานเชิงทดลอง โมเดลที่ทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนและต่อยอดวัสดุ รวมกว่า 40 ชิ้น ผู้ประกอบการผ้าบาติกภาคใต้ในประเทศไทยสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดได้อย่างครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิต อย่างที่เราทราบกันดีว่าการทำผ้าบาติกอาศัยการวาดเทียนเป็นหลัก และในยุคปัจจุบันมีเรื่องของ Sustainable นิเวศวิทยาและความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ผู้ประกอบการอยู่กับ หม้อต้มเทียนนานๆ เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ อีกทั้งในช่วงฤดูฝนมีความชื้นสูง ไม่สามารถเขียนลวดลายที่ละเอียดได้มากนัก เพราะเทียนจะเย็นตัวเร็วกว่าปกติ จึงหาเทคนิคช่วยให้ผู้ประกอบการพึ่งพาเทียนน้อยลงแต่ยังคงทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากการเพนต์และการย้อม ตัวอย่างเช่น เทคนิคการเพนต์ไล่สี โดยการเพนต์สีให้ทั่วทั้งผืนผ้าเแล้วนำน้ำแข็งไปวางในบางจุดของผ้า เมื่อน้ำแข็งละลายจะเหมือนการออสโมสิสให้น้ำเป็นตัวทำละลายสีผ่านใยผ้า นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคการโรยสีย้อมลงบนผ้าแห้งแล้วฉีดฟ็อกกี้ลงบนผ้าที่โรยสี สามารถควบคุมความชื้นของผ้าในแต่ละจุด พอเราได้จุดสีที่สวยแล้วหยุด จะได้พื้นผิวที่เหมือนคลื่นน้ำ

ส่วนเทคนิคที่ได้รับความสนใจคือการวาดเส้นเทียนน้อยลงแต่เน้นเท็กซ์เจอร์สีมากขึ้น การวาดเส้นเทียนใหญ่ๆ ลักษณะเป็นเส้นตรงกราฟิกธรรมดา แต่ใช้เทคนิคโรยผงสีและเพนต์น้ำแข็งลงไปในช่องเทียน สำหรับเทคนิคยอดนิยม ได้แก่ การปั๊มแม่พิมพ์ทองแดงลงบนผ้าบาติก ผู้ประกอบการแต่ละแห่งจะมีแม่พิมพ์แบบนี้อยู่เยอะมากตามออร์เดอร์ จึงคัดเลือกลวดลายที่ร่วมสมัยนำมาจัดวางเรียงแบบลวดลายโดยเน้นเรื่องการสะท้อนหน้าหลัง เกิดเป็นองค์ประกอบของลวดลายร่วมสมัยที่น่าสนใจ

นิทรรศการครั้งนี้นำเสนอความสำคัญ 2 ประการหลัก ประการที่หนึ่ง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานจากการวิจัยเพื่อพัฒนามรดกผ้าบาติกแดนใต้ของประเทศไทยด้านกระบวนการผลิต ประการที่สอง การผลิตชิ้นงานแบบส่วนตัวที่เกิดจากกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ นำมาจัดแสดงให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจเรื่องสิ่งทอและแฟชั่น เพื่อเป็นความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดทั้งด้านการศึกษาและการพัฒนาไปสู่อาชีพที่ยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน