การบินไทยเปิดแผนรายได้
ตั้งเป้าหลุดฟื้นฟูปี’68-กลับเข้าตลท.

รายงานพิเศษ

หลัง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ครบ 1 ปี จากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 มาอัพเดตถึงสถานะปัจจุบันกัน

โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงอนาคตของบริษัท ว่า ขณะนี้ ผลประกอบการของสายการบินเริ่มฟื้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยไตรมาส 2/2565 บริษัทมีผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) นั้น EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน กลับมาเป็นบวก มีกำไรจำนวน 168 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 9,212 ล้านบาท ในปี 2564 นับเป็นไตรมาสแรกหลังเข้าแผนฟื้นฟูที่ EBITDA หลังหักค่าเช่าเป็นบวกถือเป็นสัญญาณที่ดี ตัวเลข EBITDA เป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาส 2/2565 ที่ยังขาดทุน 3,213 ล้านบาท นั้น ไม่อยากให้เป็นตัวชี้วัดผลประกอบการ เนื่องจากปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิเป็นบวก 55,113 ล้านบาท ก็เนื่องจากมีการรับรู้รายได้ ซึ่งเป็นรายการพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้เข้ามา อาทิ การขายสินทรัพย์ แต่ปีนี้ไม่มีรายได้พิเศษดังกล่าว รวมทั้งยังมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน มีการจ่ายค่าเช่าเครื่องบินในอนาคต ซึ่งตามหลักบัญชีต้องเป็นมูลค่าปัจจุบัน จึงทำให้ไตรมาส 2/2565 การบินไทยยังมีกำไรสุทธิติดลบ 3,213 ล้านบาท

ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูปี 2568








Advertisement

“ไม่อยากให้วัดผลประกอบการจากตัวเลขกำไรสุทธิ อยากให้ดูที่ตัวเลข EBITDA ซึ่งนักวิเคราะห์ใช้ รวมทั้งในแผนฟื้นฟูที่ยื่นขอแก้ไขเมื่อ 1 ก.ค. 2565 บริษัทได้มีการกำหนดใช้ EBIDTA เป็นตัวชี้วัดและเงื่อนไขที่จะออกจากแผนฟื้นฟู โดยกำหนดว่า จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ ต้องมี EBITDA เกิน 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำได้ในปี 2567 รวมทั้งทุนจะต้องกลับมาเป็นบวก คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2567 ตั้งเป้าจะนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูให้ได้ในปี 2568 พร้อมกับนำ หลักทรัพย์กลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกครั้ง”

ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนและประมาณการที่ยื่นแก้ไข เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ทั้งผู้แทนเจ้าหนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่มีปัญหา เพราะบริษัทไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ เสียเปรียบ โดยเฉพาะกรณีที่กำหนดให้สามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ในสัดส่วน 24.5% ถือเป็นผลดีกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ ในระยะยาวมาก รวมทั้งที่ผ่านมายังมีการหารือชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันถึง 80% ลงมติโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับยื่นแก้ไข วันที่ 1 ก.ค. 2565 ของบริษัท การบินไทย และเตรียมยื่นต่อศาล ล้มละลายกลางพิจารณาตัดสินในวันที่ 14 ก.ย. 2565 ทำให้สายการบินมีความมั่นใจมากขึ้น ในการเดินหน้าขยับขยายธุรกิจ เร่งกู้ฐานะ หารายได้เพิ่ม ในช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยและทั่วโลกกำลังเริ่มฟื้นตัว

ผู้โดยสารชาวต่างชาติฟื้น

สำหรับด้านการหารายได้ไตรมาส 2 เริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่ายัง ไม่มาก จากปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารต่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลับมามีอัตราใกล้เคียง และบางเดือนเริ่มสูงกว่าในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว ขณะที่จำนวนผู้โดยสารของไทยสไมล์ ก็กลับขึ้นมาอยู่ที่ 80% ของช่วงก่อนโควิดแล้ว

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 3/2565 มั่นใจว่า EBITDA จะเป็นบวกเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูง แต่จะมีการรับรู้รายได้จากการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2565

เพิ่มรูทบินปั๊มรายได้ไฮซีซั่น

สำหรับไตรมาสที่ 4/2565 เป็นช่วงไฮซีซั่น คาดว่าปริมาณ ผู้โดยสารจะมีจำนวนมากไม่ต่างจากปีก่อน แต่ปัญหาราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงแพง และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากจีน ยังไม่เปิดประเทศ แต่ล่าสุดจีนอนุมัติให้ไทยบินเข้าจีนได้แล้ว เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 เป็นต้นไป แต่ยังจำกัดจำนวน เที่ยวบินไว้เพียง 15 เที่ยว/สัปดาห์ ขณะที่ญี่ปุ่น ยังมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ส่วนฮ่องกงกับไต้หวันก็ยังมีปัญหา

ส่วนตลาดอินเดียและยุโรปนั้น ถือว่าเติบโตดีมากอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีแผนจะกลับมาบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-มิลาน อิตาลี และกรุงเทพฯ-ออสโล นอร์เวย์ ในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง เริ่มขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย มีแผนที่จะเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพฯ-เจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ รวมทั้งศึกษาการปรับเพิ่มเส้นทางบินเพิ่มเติม

เช่าเครื่องบินเพิ่มรับท่องเที่ยว

เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการที่ไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายการเดินทางท่องเที่ยว การบินไทยมีแผนที่จะปรับปรุงเครื่องบินเก่าจำนวน 5 ลำ เพื่อนำกลับมาใช้งาน คือโบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330 จำนวน 3 ลำ ซึ่งจะเข้ามาในฝูงบินไตรสมาส 4/2565 และเช่าเครื่องบินใหม่ เพิ่มอีก 5 ลำ

ล่าสุดลงนามในหนังสือเจตจำนงเช่าไปแล้ว 2 ลำ คือ แอร์บัส 350 จะรับมอบเดือนม.ค. 2566 และเตรียมเช่าอีก 3 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแบบและชนิดของเครื่องบิน โดยจะต้องเป็นชนิดเดียวกับที่การบินไทยใช้อยู่ เพราะไม่ต้องการให้มีเครื่องบินมากชนิดเกินไป เช่น โบอิ้ง 787 โดยต้นปีหน้าจะมีฝูงบินเพิ่มเป็น 68 ลำ รวมทั้งอยู่ระหว่างการเตรียมการขายเครื่องบินเก่าเพิ่มเติมคือ แอร์บัส 340 อีก จำนวน 4 ลำ จากที่ก่อนหน้านี้ขายได้แล้ว 6 ลำ

รับพนักงานเอาต์ซอร์ส 600 คน

จากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การบินไทยจำเป็นต้องขยายงานในส่วนของบริการภาคพื้น คลังสินค้า และครัวการบิน เพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และโอกาสของธุรกิจ โดยภายในปีนี้จะเปิดรับพนักงานเอาต์ซอร์ส อีก 600 คน จากปัจจุบันที่มีจำนวนพนักงาน 14,400 คน โดยเฉพาะพนักงานให้บริการภาคพื้น บริการคาร์โก้ และพนักงานครัว ซึ่งตามแผนฟื้นฟูเปิดทางให้การบินไทยรับพนักงานเพิ่มได้ โดยภายในสิ้นปี 2565 จะต้องมีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 คน ส่วนในปี 2566 ก็สามารถรับเพิ่มได้อีกตามความจำเป็น

นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงแผนการหารายได้จากศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ว่า ยังดำเนินการให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งที่ศูนย์ซ่อมดอนเมืองและสุวรรณภูมิ แต่มีแผนที่จะปรับลดพื้นที่ศูนย์ซ่อมดอนเมืองลงและหันไปใช้พื้นที่สุวรรณภูมิแทน เพื่อปรับลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีการคิดอัตราค่าเช่าที่สูงมาก รวมทั้งต้องเร่งเจรจากับอีอีซี เกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์ซ่อมหรือ MRO ที่อู่ตะเภา

ครัวการบินรุก ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’

ด้าน นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยธุรกิจการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนหารายได้ครัวการบิน ว่า จะใช้โอกาสจากซอฟต์ เพาเวอร์ โดยเฉพาะด้านอาหาร เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับบริษัท

“สินค้าไฮไลต์ คือ ปลาท่องโก๋ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาวิจัยผลิตเป็นปลาท่องโก๋แช่แข็ง เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเปิดตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการปาท่องโก๋สัญจร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันครัวการบินได้เร่งหารายได้เพิ่ม ขยายธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจการบิน (Non-Aviation) ด้วยการเร่งขยายสาขาร้าน Puff&Pie ผ่านการขายแฟรนไชส์, จับมือกับแอพพลิเคชั่นชั้นนำของไทย เช่น LINEMAN เพื่อจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ เบเกอรี่, อาหาร Take Home, Meal Box Set และเครื่องดื่ม, ขยายการให้บริการภัตตาคารอร่อยล้นฟ้า ไม่บินก็ฟินได้ สาขาวิภาวดีรังสิต

รวมทั้งขยายฐานการจำหน่ายอาหารไปยังห้างสรรพสินค้า ร้าน โมเดิร์นเทรด ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ปัจจุบันร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) วางจำหน่ายอาหารในร้านสะดวกซื้อ 7-11 (เซเว่นอีเลฟเว่น)

และยังเปิดคอร์สสอนทำอาหารให้แก่บุคคลทั่วไป ล่าสุด เปิดสอนทำ Chicken Tikka Masala, Cauliflower Masala และ Garlic Naan อาหารอินเดียยอดฮิต โดยเชฟอาหารอินเดียของฝ่ายครัวการบินไทย และขยายผลิตอาหารให้บริการบนเครื่องบินให้กับทุกสายการบิน หวังว่าจะช่วยเสริมรายได้นอกธุรกิจการบินได้ไม่น้อยทีเดียว

ถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะทำให้การบินไทยกลับมาผงาดได้อีกครั้ง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน