สังคมกำลังจับตาคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากหลักฐานของทั้งฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชี้แจงเรื่องนายกฯ ขาดตอน และความเห็นจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ.

ขณะที่ฝ่ายค้านผู้ร้อง แย้งว่าบทเฉพาะกาลไม่เขียนข้อยกเว้นไว้ หรือการไม่ยื่นทรัพย์สินต่อป.ป.ช. เพราะเคยเป็นนายกฯมาแล้ว ประกอบความเห็นจากบรรดานักวิชาการทั้งหลาย รวมทั้งบันทึกการประชุม กรธ.

หลักฐานของฝั่งไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์

ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

กรณีนี้ข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติอยู่แล้ว เพราะในข้อเท็จจริงพล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาครบ 8 ปีแล้ว จึงอยู่ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ข้อกฎหมายก็เป็นสิ่งที่มองแตกต่างกัน ในสังคมก็มองออกเป็น 3 แนวคือ นับปี 57, ปี 60 และปี 62 ซึ่งมีฐานรองรับทั้งนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องหยิบยกข้อกฎหมายมาต่อสู้ว่ายังไม่ครบ 8 ปี จึงขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะส่งผลต่อความชอบธรรม และการยอมรับของสังคมด้วย

ที่คำชี้แจงของนายมีชัย ที่หลุดออกมา โดยให้นับอายุ นายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่ม 6 เม.ย. 60 ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น แม้ไม่มีการยืนยันว่าคำชี้แจงที่หลุดออกมาเป็นของจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริง

แต่สะท้อนให้เห็นว่าคดีนี้มีความเกี่ยวข้องในความเป็นการเมืองสูง ทั้งคำชี้แจงของนายมีชัย คำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ และประเด็นรายงานการประชุมของกรธ. เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นการเมืองและถูกหยิบยกมาโยงเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ใช่เรื่องการพิจารณาอย่างเดียว จึงกลายเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ออกมาทำให้มีผลต่อกระแสสังคมที่จะมีต่อคำวินิจฉัย ซึ่งไม่ว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็หนีไม่พ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวบันทึกการประชุมของกรธ. ทั้งการประชุมครั้งที่ 500 และครั้งที่ 501 ไม่ใช่ประเด็นหลักของคดี ความเห็นของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรธ.ไม่ได้เป็นการผูกมัดศาล แม้จะเป็นมติกรธ.ก็ไม่ได้ผูกมัด เพราะการวินิจฉัยถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมองได้หลายมุม ผู้ร่างก็มองอีกมุม

แต่เรื่องบันทึกรายงานกรธ. ประเด็นคือทำให้สังคมสงสัยว่าที่นายมีชัย พูดไม่ใช่ข้อเท็จจริง ฝ่ายค้านก็มองว่านายมีชัย ให้การเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องของนายมีชัย ไม่ใช่เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยื่นทรัพย์สินต่อป.ป.ช.เพราะเป็นนายกฯ สมัยแรกนั้น โดยข้อเท็จจริงพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มา 8 ปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรเอาข้อกฎหมายมาหักล้าง และคงไม่สามารถปัดความเห็นของสังคมออกไปได้ ถ้าดูแต่กฎหมาย ไม่ดูข้อเท็จจริงก็อาจมีปัญหาตามมา

ประเด็นไม่ยื่นทรัพย์สิน จะเป็นปัญหาที่สังคมเอามาตั้งคำถามต่อว่าขัดแย้งกันเองหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงคือพล.อ.ประยุทธ์อยู่มา 8 ปีแล้ว ไม่ว่าจะหยิบอะไรมาแย้งก็ตาม

ข้ออ้างเป็นนายกฯขาดตอนนั้นก็เป็นได้ เพราะอ้างมาตรา 264 ที่เขียนว่าครม.ที่อยู่ก่อนให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ขณะที่ฝ่ายค้านบอกว่ามาตรา 264 คือบทบัญญัติที่รับรองครม.ต่อเนื่อง จะเห็นว่ากฎหมายเดียวกันแต่ตีความต่างกัน

ดังนั้น การจะจบเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะนับเวลาเป็นนายกฯ ปี 57 ปี 60 หรือปี 62 ก็ได้ ถ้าตามข้อเท็จจริงก็ครบ 8 ปีแล้ว ถ้าตามข้อกฎหมายก็ดิ้นได้ทั้งหมด สุดท้ายจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง เพราะสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เท่าที่ดูหลักฐานของทั้งสองฝ่ายมีน้ำหนักเท่าๆ กัน ฝ่ายค้านพูดข้อเท็จจริงว่าพล.อ.ประยุทธ์อยู่มาครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ก็หยิบยกการรับรองสถานะว่านับตั้งแต่รัธรรมนูญ 60 บังคับใช้ ส่วนรัฐธรรมนูญ 57 และฉบับชั่วคราวเป็นคนละฉบับกับปี 60

ดังนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องดูในทางการเมืองด้วย จะดูเฉพาะกฎหมายไม่ได้

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ

มรภ.อุบลราชธานี

การอ้างเป็นนายกฯ ขาดตอนในคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่ายผู้ใช้อำนาจ มีอำนาจและครองอำนาจในปัจจุบันคงใช้ยุทธวิธีและวิธีการต่ออายุของตัวเอง โดยใช้วิธีปล่อยข่าวหลุดออกมาและพยายามมีคำชี้แจง เพื่อสนับสนุนข่าวที่หลุดออกมาให้มีน้ำหนัก ประชาชนและฝ่ายการเมืองจะได้ทราบทัศนะในมุมมองอีกด้านที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามแก้ต่างข้อกล่าวหา

เอกสารความเห็นของนายมีชัย ที่ให้นับการดำรงตำแหน่ง นายกฯ 6 เม.ย.60 ที่หลุดออกมาก็ถือเป็นอีกกลยุทธ์ ขณะเดียวกัน เอกสารที่หลุดออกมาเป็นช่องให้ฝ่ายค้านไปยื่นขอเอกสารเพื่อขอความชัดเจน และคิดว่าตรงนี้มีผลไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารีบส่งเอกสารมาสมทบ

เป็นการสร้างสงครามจิตวิทยาข่าวสาร ฝ่ายไหนจะชิงความได้เปรียบ และยังเป็นการชี้แจงทางการเมืองอย่างมียุทธศาสตร์ โดยอาจแกล้งปล่อยข่าวหลุดหรือตั้งใจจะให้มีข่าวออกมา เป็นปฏิบัติการล่อเสือออกจากถ้ำโดยใช้เหยื่อคือข้อมูลข่าวสารเป็นตัวป้อน เพื่อดูท่าทีของฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ

เช่น ฝ่ายค้านจะมีทัศนะอย่างไรและแสดงเจตนาต่อข่าวที่ออกมาอย่างไร เป็นการช่วงชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของข้อมูลข่าวสารทางการเมือง คำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ กับนายมีชัย ฝ่ายปล่อยเอกสารคงคิดวิเคราะห์แล้วว่าจะเลือกเมสเสจ หรือข่าวสารตัวไหนที่มีน้ำหนักสอดคล้องกันปล่อยออกมา เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เป็นการชี้ช่องโดยใช้นัยยะตีความทางกฎหมาย แม้จะมีนักวิชาการชี้ว่าคำชี้แจงของทั้งคู่ขัดแย้งกัน ในตัว

ส่วนบันทึกการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500 และ 501 นั้นเป็นข้อดีของยุคข้อมูลข่าวสาร ทำให้สังคมตระหนักคิดและวิเคราะห์แยกแยะมากขึ้น ทำให้ประชาชนสนใจติดตามและมีทัศนะต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย และประเด็นเนติบริกรยังใช้ได้หรือไม่ในยุคปัจจุบัน

ไม่ว่าเอกสารที่หลุดมาจะเป็นของใคร มาจากไหน จะจริงหรือเท็จ จะหักล้างกันหรือไม่ น้ำหนักน่าจะน้อยกว่าผลที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตทางการเมือง เราปฏิเสธที่จะไม่รับฟังหลักฐานไม่ได้เพราะเป็นสัจจะ เป็นเรื่องจริง แต่ในทางการเมืองการจะดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าจะโดยตรงหรือเบี่ยงเบน จึงต้องรับผลในอนาคต

ตัวเอกสารจะเป็นตัวชี้ว่าผู้เอาไปใช้เพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือเพื่อการตัดสินที่เที่ยงตรง และจะเป็นมาตรฐานทางการเมืองในอนาคต หลักฐานของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะพล.อ.ประยุทธ์ ของ นายมีชัย สภาหรือของฝ่ายค้าน เป็นการยกทัศนะของทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล หรือนักวิชาการ มาหักล้างสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์สำหรับตัวเองอย่างไร

และที่ผ่านมาหลายครั้ง แม้จะมีแรงเสียดทานเข้ามาที่ฝ่ายรัฐบาล แต่ความเห็นของนักวิชาการยังใช้ไม่ได้ในทางการเมืองไทย และจะมีผลต่อไปคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ความศรัทธาที่มีรัฐบาล ต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าเอกสารของสภาน่าจะมีน้ำหนักใกล้เคียง น่าเชื่อถือมากกว่าเพราะบันทึกด้วยความสัตย์จริง แต่ที่สุดผลที่ออกมาในบริบทแวดล้อมอย่างปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาล

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ หรือ นายมีชัย คำชี้แจงหลุดออกมาได้อย่างไร ต้องมีการตรวจสอบว่าหลุดก่อนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ หรือหลุดหลังไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นเรื่องรายละเอียดในสำนวนที่คนนอกไม่มีทางได้ทราบ แต่เมื่อหลุดออกมาแบบนี้ สมควรอย่างยิ่งที่ศาลต้องตรวจสอบ

โดยเฉพาะคำให้การของนายมีชัย ที่ระบุการประชุมครั้งที่ 500 เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย แต่ข้อเท็จจริงมีการประชุมครั้งที่ 501 สุ่มเสี่ยงอาจเป็นการให้การเท็จต่อศาล จึงต้องมีการตรวจสอบว่าคำให้การตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีระบบเหมือนศาลทั่วไป ดังนั้น เรื่องบันทึกการประชุมจึงมีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง โดยศาลขอตรวจสอบมาที่สภา เพราะการให้ข้อมูลถึงแม้จะเป็นความเห็น แต่การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงจะมีความผิดและมีโทษ ขึ้นอยู่ว่าศาลจะเอามาเป็นประเด็นหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์มองว่าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนที่นายมีชัยระบุเริ่มเมื่อปี 60 ไปสิ้นสุดที่ปี 68 พล.อ.ประยุทธ์กับนายมีชัยชี้แจงเหมือนกัน ไม่มีใครพูดถึงปี 62 แต่ที่เหมือนกันคือวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ทุกคนไม่ปฏิเสธว่ามันต้อง 8 ปี เมื่อดูแล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ระบุว่า ไม่ว่าก่อนหรือหลัง ขาดตอนหรือไม่ขาดตอน ตัวอักษรก็เขียนไว้ชัดเจนว่ารวมทั้งหมด ไม่ว่าเป็นมาแล้วหรือจะเป็นต่อ

บทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปี นายชวน หลีกภัย หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทุนการเป็นนายกฯ มาแล้วทั้งสิ้น ถ้าจะมาเป็นนายกฯ ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 60 ก็จะนับต่อจากที่เคยเป็น เว้นแต่คนที่ไม่เคยเป็นนายกฯ มาก่อน

ดังนั้น ตัวหนังสือมาตรา 158 จึงชัดเจนว่าไม่ว่าก่อนหรือหลัง ต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องได้รวมไว้หมดแล้ว การจะพูดว่าเป็นนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 60 จึงฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าดูในเจตนารมณ์ที่อยู่ในบันทึกการประชุมกรธ. ครั้งที่ 500 เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้ก็มีการบันทึกไว้

หลักฐานส่วนไหนที่จะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ถ้าพิจารณาจะพบว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการตีความตามเจตนารมณ์ ซึ่งเจตนารมณ์ก็ไม่ได้ดูว่าคนที่ร่างกฎหมายว่าอย่างไร หรือว่าคณะบุคคลที่ร่างว่าอย่างไร เพราะบุคคลที่ร่างมีหลายคนจึงมีหลายความเห็น

เพียงแต่การประชุมครั้งที่ 500 มีความชัดเจนว่าคนที่ร่างกับตัวหนังสือที่ปรากฏตรงกันว่าไม่ก่อนหรือหลังให้เอามานับต่อหมด ก็จะตรงกับเจตนารมณ์ตรงนี้ว่า ไม่ต้องการให้เป็นยาวนาน เพราะจะเกิดการสืบทอดอำนาจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการเมืองแบบเก่าๆ เมื่อครบแล้วก็ไม่ควรจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ส่วนตัวจึงมองว่าต้องยึดตามเจตนารมณ์กฎหมาย คำวิจิฉัยที่ขัดแย้งหรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยนั้นจะอยู่ตลอดไปและจะฟ้องด้วยตัวมันเองว่าเป็นคำวินิจฉัยขององค์คณะไหน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน