สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ดัชนี ส.ค.ยังซึม เผยคนไทยงดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหตุรายได้ไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูง จี้รัฐช่วยต้นทุนจ้างงาน-อัดเงินเข้าระบบ

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ประจำเดือนส.ค.2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการเดือนส.ค.ทรงตัวเท่ากับเดือนก.ค. แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกเพราะผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น และจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ยที่จะดีดตัวเพิ่มขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 5-8% ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่ยังคงต้องใช้เวลา และผู้ประกอบการยังมี ความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อารมณ์ในการจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร

“ผลการสำรวจรอบนี้ของเราพบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จลดลง ขณะที่ความถี่ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิมเดือนส.ค.ปรับลดลง จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการ ใช้จ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว เต็มที่”

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ผู้บริโภคปัจจุบันมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะ ที่จำเป็น ลดการบริโภคฟุ่มเฟือยซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ โดยนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมา พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” รวมทั้ง “ไทยเที่ยวไทย” ไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ ผลสำรวจระหว่างวันที่ 17-26 ส.ค.2565 พบว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า กว่า 40% เห็นว่าจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ส่วนปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ กว่า 70% กังวลต่อเงินเฟ้อที่สูงผลักดันราคาสินค้าสูงขึ้น

สรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ยังคงน่ากังวลถึงสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะกำลังซื้อของ ผู้บริโภคยังไม่มา ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนจากค่าแรง

ดังนั้น ภาครัฐต้องลำดับความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน ด้านผู้บริโภคก็มุ่งเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบการภาครัฐก็ต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มจากการจ้างงาน โดยทดลองประกาศใช้แรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เริ่มจากธุรกิจค้าปลีกและ ร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน เพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน