รฟท.โปรดแก้ไขทุกข์ชาวโคราช

เรียน บ.ก.ข่าวสด

พื้นที่ในชุมชนประสบสุข ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกกำหนดเขตเป็นที่เวนคืนในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ยังมีหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้ย้ายออก เนื่องจากยังหาที่อยู่ใหม่ยังไม่ได้ บางรายไม่มีเงินในการรื้อถอนและการขนย้าย ต้องอาศัยเงินจากการเก็บของเก่าขายและเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการ ดำรงชีพ จึงอยากขอร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการรื้อถอนบ้านหลังเก่าและขนย้ายข้าวของไปยังที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ และพบว่าการเวนคืนที่จะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ในช่วงแคบที่สุดจะมีระยะประมาณ 200 เมตรรอบทางรถไฟ และในส่วนกว้างที่สุดคือ 800 เมตรรอบทางรถไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ถ้าหากการเวนคืนเป็นดังในแผนที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องของที่อยู่อาศัยหลายร้อยหลังคาเรือน โดยเฉพาะชุมชนในเขตเทศบาล ไม่อยากให้มุ่งแต่พัฒนาบ้านเมือง จนลืมผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ อยากให้ทางการรถไฟฯฟังเสียงประชาชนบ้าง

ไม้ขอน

ตอบ ไม้ขอน

การเวนคืนที่ดินในโครงการรถไฟความเร็วสูงมีผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมาก นอกจากชุมชนประสบสุขที่คุณนำเสนอมานี้ ทราบว่ายังมีอีกหลายอำเภอในนครราชสีมา ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ที่สำคัญเป็นชุมชนคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินทุนสำหรับการอพยพไปอยู่ที่ใหม่ ประเด็นสำคัญคือต้องฟังเสียงของประชาชน การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องหาทางแก้ไข

ที่ดินริมทะเลจะนะระอุ

เรียน บ.ก.








Advertisement

ที่ดินริมทะเล บริเวณบ้านท่านางไทร หมู่ที่ 3 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นที่ดินที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นที่พัก ทำเครื่องมือประมง เส้นทางเดินขนส่งสินค้าในการประกอบอาชีพประมง เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว และใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชนโดยทั่วไปและคนในหมู่บ้าน ปลูกต้นสนและต้นมะพร้าวไว้เป็นร่มเงา นอกจากนั้น กรมเจ้าท่าปักหมุดแนวเขตกรมเจ้าท่าไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ต่อมามีการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ปากบางนาทับ ทำให้ที่ดินชายทะเลงอกยื่นออกไปในทะเล เทศบาลตำบลนาทับทำแนวถนนเลียบชายฝั่งทะเลจากหมู่ที่ 4 ผ่านหมู่ที่ 3 ถึงเขื่อนกันคลื่นบ้านปากบางนาทับ ชาวบ้านเรี่ยไรเงินทำถนนดินลูกรังจากหมู่บ้านลงไปถึงริมทะเล ขุดบ่อน้ำตื้นไว้ใช้ร่วมกัน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโรงไฟฟ้าจะนะทำถนนคอนกรีตบนถนนดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ต่อมานายทุนได้มาซื้อที่ดินบริเวณท่านางไทร อ้างกรรมสิทธิ์บนที่ดินชายทะเลที่งอกใหม่ ซึ่งติดกับแนวเขตโฉนดที่ดินของชาวบ้าน โค่นต้นสนที่ชาวบ้านปลูกไว้นำไปทำรั้ว โค่นต้นมะพร้าวและปลูกต้นมะพร้าวใหม่ทดแทนบนที่ดินเดิม บนแนวถนนเลียบชายทะเล ริมชายฝั่งทะเล ขุดบ่อบาดาล วางท่อน้ำเลี้ยงต้นมะพร้าว มีชายชุดดำเดินลาดตระเวน ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินท่านางไทรได้ตามปกติ ชาวบ้านท่ายางหมู่ที่ 3 เทศบาลตำบลนาทับ จึงได้ร่วมลงชื่อคัดค้าน ส่งเรื่องให้เทศบาลตำบลนาทับไว้แล้วเป็นเบื้องต้น ขอให้จังหวัดสงขลาตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่อย่างไร หากเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ขอให้ออกเอกสารสิทธิเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนร่วมกันต่อไป

ผู้เดือดร้อน

ตอบ ผู้เดือดร้อน

ข้อร้องเรียนนี้ คงต้องนำเสนอถึงผู้ว่าฯ สงขลา เข้ามาตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต้องทำให้ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน