ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันอ่านคำวินิจฉัย กรณีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดแล้วหรือไม่ หรือพูดง่ายๆ คือนัดอ่านคำพิพากษาแล้ว ในวันที่ 30 กันยายนนี้

คอการเมืองร้องเฮกันใหญ่ ว่าเป็นฤกษ์งามยามดี

เพราะวันที่ 30 กันยายนนั้น คือวันเกษียณอายุราชการประจำปีของเหล่าข้าราชการ

ใครอายุครบ 60 ปี ก็ถือว่าจบสิ้นอำนาจหน้าที่ในวัน ดังกล่าว ได้เวลาเก็บข้าวของกลับบ้านไปเลี้ยงหลานกันแล้ว

พอศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนายกฯ ในวันดังกล่าว

ก็เลยถามกันไปทั่วว่า แล้วจะเป็นวันครบเกษียณอายุ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีหรือไม่!?!

ต้องยอมรับว่า วาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของนายกฯ ประยุทธ์นั้น เป็นประเด็นขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

เพราะเป็นข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบางฝ่ายถือว่าให้นับตั้งแต่การเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557

จึงพูดกันมาตั้งแต่ปี 64 ว่าให้จับตา 24 สิงหาคม 2565 จะเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เปิดประเด็นกันมาข้ามปีแล้ว

ดังนั้นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แง่มุมทางกฎหมายต่างๆ ของคดี 8 ปีนี้

จึงเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอด จนประชาชนวงกว้างได้รับรู้ปมประเด็นทางกฎหมายกันอย่างละเอียด!!

อีกทั้งความรู้ทางกฎหมายที่ประชาชนคนไทยได้รับรู้ในคดี 8 ปีนี้

เป็นความรู้ที่อธิบายโดยนักวิชาการด้านนิติศาสตร์หลายสถาบันการศึกษา ออกแถลงการณ์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

รู้กันหมดว่า คำว่ากฎหมายไม่ควรมีผลบังคับย้อนหลังนั้นใช้ในกรณีไหน และในกรณีไหนจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีผลย้อนหลัง!!

ถือได้ว่าปมประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องใหญ่ เป็นที่สนใจของคนทั้งบ้านทั้งเมือง และได้ความรู้ทางวิชาการที่เป็นมาตรฐาน

ไม่ใช่ข้อมูลข่าวลือเลื่อนลอย เหมือนกระแสโซเชี่ยลในหลายๆ กรณี

แต่เรื่อง 8 ปีนายกฯ นี้ ชาวบ้านได้รู้แบบข้อมูลจริง แง่มุมทางวิชาการจริง

เชื่อว่าถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ประชาชนคนไทยจะรับฟังตาม อย่างคนที่เข้าใจปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ กันอย่างทะลุปรุโปร่ง

30 กันยายนนี้จึงเป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้ารอคอย

30 กันยายน สำหรับข้าราชการครบ 60 ปี คือวันเก็บของกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน

30 กันยายน สำหรับนายกฯ จะครบ 8 ปีหรือยัง ต้องเก็บของออกจากทำเนียบกลับบ้านหรือไม่ ระทึกจริงๆ!?!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน