‘อาคม’ ห่วงน้ำมัน-เงินเฟ้อ ติงตรึงดีเซลถูกสวนกระแสโลก สร้างหนี้กองทุน 1.24 แสนล้าน มั่นใจท่องเที่ยวฟื้น 10 ล้านคน-ส่งออกโต 10% ลงทุนรัฐ-เอกชน และมาตรการกระตุ้นศก.รัฐหนุนทั้งปีโต 3-3.5% มีแรงส่งปีหน้าคาดโต 3-4%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องรัฐมนตรี” ทาง FM 92.5 MHz ว่ายอมรับมีความกังวลปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนจนติดลบ 1.24 แสนล้านบาท เพื่อลดภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าไม่ให้ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าต้องปรับขึ้น เป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

“ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีกลไกกองทุนดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ เป็นระบบที่ดี ไม่ทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำ ประเทศอื่นๆ ปล่อยให้ราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ขณะนี้เริ่มมีประเด็นว่าไทยใช้น้ำมันถูกเกินไปหรือไม่ โดยปีนี้ช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปสูงมากก็ไม่เกิน 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ก็ให้กองทุน ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ทั้งที่ราคายังไม่สูงเท่ากับ ปี 2550-2551 ที่ขึ้นไปถึง 130-140 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และตอนนั้นไม่ได้มีการสั่งตรึงราคาขายปลีกในประเทศไว้แบบนี้ ที่สำคัญเงินกองทุนมีดำเนินการหรือไม่ยังเป็นปัญหา”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้มั่นใจอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะโตได้ 3-3.5% เทียบกับปีก่อนโต 1.5% เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน หลังเปิดประเทศ ยกเลิกไทยแลนด์พาส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจนถึงเดือนก.ย.ราว 5 ล้านคน โดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง อินเดีย อินโดนีเซีย และยุโรป

นายอาคมกล่าวว่า หากในช่วงที่เหลือของปีนี้มีต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยเดือนละ 1 ล้านคน คาดว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยราว 8-10 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และภาคบริการต่างๆ จะกลับมาประกอบธุรกิจ เกิดการจ้างงาน ทำให้คนมีรายได้ นำไปจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 ที่คาดว่าจะโตได้ 3-4% แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าแต่มั่นคง ดีกว่าฟื้นตัวเร็วแต่ฟุบ

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อน คาดว่าทั้งปีนี้จะโตได้ 10% ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ผลผลิตทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศมากขึ้น การค้าชายแดนที่เพื่อนบ้านของไทยกลับมาค้าขายกันคึกคัก รวมถึงเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือโรงพยาบาลในไทยสร้างรายได้เข้าประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนยังดำเนินการต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน