ขอนแก่น – นายทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น เผยว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ขอนแก่นปรับขึ้นจากเดิมวันละ 325 บาท เป็น 340 บาท คิดเป็นการปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 4.6 ซึ่งยังคงจัดอยู่ในเกณฑ์การประเมินที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดคือการปรับขึ้นที่ร้อยละ 5-8 และในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวนี้นั้นกลุ่ม ผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ และแรงงานรับจ้างรายวัน จะได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกวันละ 15 บาท หรือได้รับเงินเดือนที่ปรับขึ้นอีกเดือนละ 450 บาท ในฐานะนายจ้างแม้จะต้องรับภาวะค่าต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองถึงสัดส่วนเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นถือว่าเหมาะสมและสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้อย่างมาก

“ขอนแก่นมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดกว่า 4,000 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานรวมกว่า 100,000 คน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 900 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนในประเทศและกลุ่มทุนท้องถิ่น รวมไปถึงโรงงานจากต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ จะกระทบในการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องมอง 2 มุม คือลูกจ้างต้องรับภาระ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น น้ำมันแพง, ไข่แพง, หมูแพง, สินค้าในการอุปโภคและบริโภคราคาสูงขึ้น ค่าจ้างเพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาได้บ้าง นายจ้างเองก็ต้องเห็นใจต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ขณะนี้แรงงานทักษะและแรงงานฝีมือต่างได้รับค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด ขณะที่กลุ่มงานรับเหมาก่อสร้างก็มีการคิดค่าใช้จ่ายเป็นตารางเมตร ด้านแรงงานในระบบก็ได้รับเงินเดือนที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนกลุ่มราชการหรือลูกจ้างของรัฐก็มีค่าจ้างที่มากอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ต้องหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิตหรือการนำแรงงานต่างชาติตามข้อตกลงเข้ามาทำงานทดแทนแรงงานไทย ในกลุ่มผู้ประกอบการบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออก, แห, อวน, รองเท้า, เครื่องหนัง หรือสินค้าแปรรูป รวมไปถึงการพูดคุยกันในการนำนวัตกรรมหรือระบบเทคโนโลยีต่างๆ หรือเอไอ เข้ามาทดแทนในการผลิตหรือทดแทนในส่วนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมองถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ด้วยการพิจารณาทบทวนเรื่องต้นทุนที่แพงขึ้น และมีการผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำมัน หรือสิทธิทางด้านภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน