ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุมเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา ส.ส.ก้าวไกลและ เพื่อไทยเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามที่สภา มีมติในการออกเสียงประชามติ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนลงมติ ประธานนับองค์ประชุม มีส.ส.แสดงตน 242 คน เกินองค์ประชุมเพียง 6 คน

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการลงมติ แม้จะมีส.ส. เห็นด้วยกับญัตติ 218 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 6

แต่เท่ากับมีผู้ลงมติเพียง 230 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม

ญัตติผ่านแต่องค์ประชุมไม่ครบ ญัตติตกไปหรือไม่
นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้แจงว่า เมื่อผู้ลงมติไม่ครบองค์ประชุม ให้ถือว่าต้องปิดการประชุม แต่ญัตติดังกล่าวไม่ตกไป ต้องกลับมาลงมติใหม่อีกครั้งในการเปิดประชุมสภา สมัยหน้าเดือนพฤศจิกายน

แต่ปัญหาคือ รองประธานสภาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น ระบุว่า ญัตติผ่านแล้ว จึงอาจมีปัญหาเหมือนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกวินิจฉัยว่า การลงมติร่างกฎหมายที่ไม่ครบองค์ประชุมนั้น ต้องตกไป








Advertisement

สรุปคือแม้ญัตติผ่าน แต่ก็จะมีปัญหาถูกตีความให้ตกไป ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ประธานที่ประชุมต้องกลับคำวินิจฉัยให้การประชุมล่มไปก่อน แล้วมาลงมติกันใหม่ เป็นทางออกดีที่สุด

รัฐธรรมนูญปี 60 มีที่มาจากการรัฐประหาร ผ่านการทำประชามติที่ไม่เสรี ไม่เป็นตามมาตรฐานสากล

เนื้อหาบางส่วนเป็นความถดถอยทางประชาธิปไตย ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นต้นตอ ขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หัวใจหลักญัตติด่วน คือการทำประชามติสอบถามประชาชน ว่าเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านกลไกลสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร .จากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่

และเพื่อประหยัดงบ เพื่อความสะดวกของประชาชน ยังเสนอให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้ญัตติจะไม่ผ่านโดยสมบูรณ์ในสมัยประชุมนี้ แต่ประชาชนในสังคมต่างคาดหวัง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลจะร่วมเป็นองค์ประชุมสานต่อภารกิจให้สำเร็จลุล่วงในสมัยประชุมหน้า

นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตัวแทนประชาชน เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยเต็มใบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน