กล่องสุ่ม

รู้ไปโม้ด

น้าชาติ กล่องสุ่มที่ซื้อๆ ขายๆ กันอยู่ เป็นมาอย่างไร

ณพร
ตอบ ณพร

คำตอบสรุปจากบทความเผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ดังนี้

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงโชคอยู่บ้าง ในไทยเรียกกันว่า “กล่องสุ่ม” มีทั้งที่เป็นกล่องสุ่มแบบจับต้องได้ในโลกจริง และกล่องสุ่มในโลกเสมือนเป็นระบบ “วิดีโอเกม”

ในระบบวิดีโอเกม ศัพท์ที่คุ้นเคยกันมักใช้คำว่า Loot box (บางทีก็อาจใช้คำว่า Lucky Box หรือ Gift Box) แต่ไม่ว่าจะใช้ศัพท์เรียกว่าอะไร ลักษณะส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการที่ผู้เล่นเปิดกล่องที่บรรจุสิ่งของ (item) แบบสุ่ม สิ่งของที่เปิดได้มาจากกล่องอาจเป็นไอเทมต่างๆ ตามที่ระบบสุ่มให้กับผู้เล่น

การได้มาของ “กล่อง” ที่สุ่มสิ่งของนั้น มีทั้งที่ผู้เล่นได้รับมาจากการเล่นเกมเอง จ่ายเงินจริงซื้อกล่องในเกม หรือสะสมแต้มหรือเงินในเกมมาแลกซื้อกล่อง








Advertisement

ลักษณะเปิดกล่องในเกมนี้ปรากฏในช่วงต้นยุค 2000s ทั้งในญี่ปุ่น (ที่เรียกกันว่า กาชา/Gasha หรือ Gacha) และในชุมชนเกมในตะวันตก เมื่อสังคมเกมแพร่หลายกว่าเดิมจากเทคโนโลยี เครือข่ายออนไลน์ การซื้อ-ขาย “กล่อง” สุ่มไอเทมในเกมยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น กระทั่งถึงขั้นที่ผู้เล่นใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้สิ่งของจากกล่องในเกม จนองค์กรศึกษาพฤติกรรมด้านการพนันในสหราชอาณาจักรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางควบคุมภายหลังมีกรณีตัวอย่างเยาวชนใช้เงินจำนวนมากซื้อกล่องสุ่ม ขณะที่งานวิจัยพฤติกรรมของเยาวชนก็พบว่า เยาวชนที่เล่นเกม 40% มีพฤติกรรมซื้อกล่องสุ่มด้วย และยังร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาว่า กฎหมายด้านการพนันควรเข้ามาควบคุมดูแลกิจกรรมลักษณะนี้ด้วยหรือไม่

สำหรับกล่องสุ่มในโลกความเป็นจริง ในปี 2012 ปรากฏผลิตภัณฑ์จากบริษัท Loot Crate ที่จัดจำหน่าย “กล่องสุ่ม” แบบสมัครแพ็กเกจประจำรายเดือน ผู้สมัครใช้บริการจะได้รับกล่องสุ่มบรรจุสิ่งของหรือของสะสมเกี่ยวกับเกม ภาพยนตร์ หรือ แอนิเมชั่นต่างๆ ตามธีมแต่ละเดือน

บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและถูกจัดอันดับเป็นบริษัทเอกชนที่เติบโตเร็วที่สุดอันดับ 1 ในภูมิภาคอเมริกาเหนือประจำปี 2016 เชื่อว่ามีผู้สมัครไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 มีรายงานว่า บริษัทยื่นเรื่องล้มละลายต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครอง ก่อนจะมีบริษัทที่ผลิตของสะสมเข้ามาบริหารจัดการต่อ ใช้ชื่อ Loot Company

หัวข้อเรื่องโมเดลธุรกิจแบบ “สุ่ม” มักเป็นที่ถกเถียงทั้งระดับพฤติกรรม ไปจนถึงเชิงกฎหมายในหลายประเทศ ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาก็มีการเคลื่อนไหวจากทั้งฝ่ายสนับสนุนการควบคุมและฝ่ายที่มองว่าการซื้อ-ขายสิ่งของ “สุ่ม” ไม่ใช่การพนัน

ทั้งนี้ การจำหน่ายกล่องที่สิ่งของข้างในเป็นการสุ่มไม่ได้ปรากฏแค่ในแวดวงเกมเท่านั้น ปัจจุบันมีกล่องที่บรรจุสินค้าแบบสุ่มอีกหลากหลายประเภท

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน