อุกกาบาตพุ่งชนโลก ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นหนึ่งในมหันตภัยล้างโลกที่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่หลายคนคาดคิด และนักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นหาทางปกป้องโลก บ้านหลังเดียวของมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตอีกหลายเผ่าพันธุ์

ล่าสุด หนึ่งในอาวุธพิทักษ์โลก เพิ่งผ่านการทดสอบสำเร็จ ซึ่งจะปูทางพัฒนาขีดความสามารถระบบป้องกันดาวเคราะห์โลกในอนาคต

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย เพื่อทดสอบสมมติฐานการพุ่งกระแทกเบี่ยงเบนทิศทางกรณีวัตถุในอวกาศพุ่งมายังโลก

ภารกิจมีรหัสว่า ดาร์ต (Double Asteroid Redirection Test – DART) มิชชั่น ทดสอบส่งยานความเร็วกว่า 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์โฟส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 163 เมตร ห่างจากโลกราว 11 ล้านกิโลเมตร

การพุ่งชนเกิดขึ้นที่ระบบโคจรดาวเคราะห์น้อย 65803 ดิดีมอส ซิสเต็ม ซึ่งเป็นระบบโคจรแฝด ประกอบด้วยดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง โคจรรอบกันและกัน ได้แก่ ดิดีมอส เอ เส้นผ่านศูนย์กลาง 780 เมตร และไดมอร์โฟส ที่ไม่มีพิษมีภัยกับโลก ถูกเลือกเป็นเป้าหมายทดสอบ

การพุ่งชนถูกถ่ายทอดตรงจากกล้องของยานดาร์ต แบบวินาทีต่อวินาที เผยให้เห็นภาพดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟส ขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งยานพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวดาว และวิดีโอลิงก์สัญญาณขาดไปเนื่องจากยานถูกทำลายแล้ว

บรรดาเจ้าหน้าที่ในห้องควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์เชิงประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ รัฐแมรีแลนด์ (JHU-APL) ลุกปรบมือแสดงความดีใจกันพร้อมเพรียง โดยการคำนวณเบื้องต้นพบว่าคลาดเคลื่อนจากจุดศูนย์กลางของไดมอร์โฟสเพียง 17 เมตร

ดาร์ต มิชชั่น มาจากความร่วมมือระหว่างนาซ่า กับองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ ซึ่งเดิมต่างฝ่ายมีแผนจะทดสอบสมมติฐานความเป็นไปได้ในการใช้เทคนิคพุ่งกระแทกเพื่อเบี่ยงเบนทิศทางวัตถุในอวกาศที่กำลังพุ่งตรงมายังโลก ให้พุ่งผ่านโลกไปอย่างปลอดภัยแทน

ทั้งสองหน่วยงานลงนามความร่วมมือโครงการ ไอด้า (Asteroid Impact and Deflection Assessment – AIDA) ในปี 2558 โดยอีเอสเอจะส่งยานเอม (AIM) ขึ้นไปก่อน ตามด้วยยานดาร์ต ของนาซ่า

ทว่า การส่งยาน AIM ต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยภารกิจ เฮร่า (Hera) เป็นการส่งกองยานสำรวจขึ้นไปติดตามผลทดสอบพุ่งกระแทกของยานดาร์ตแทน แต่จะทิ้งระยะห่างกันหลายปี นำมาสู่การส่งยาน ดาร์ต ขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 11 เม.ย.2562 ด้วยจรวดฟัลคอน 9 ของบริษัท สเปซ เอ็กซ์ ที่นายอีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันก่อตั้งขึ้น

ยานดาร์ต เริ่มออกเดินทางทันทีและกล้องของยานตรวจจับภาพระบบดาวเคราะห์น้อย ดิดีมอสได้เมื่อ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา จึงเริ่มกระบวนการเตรียมพุ่งชน กระทั่งนำมาซึ่งความสำเร็จข้างต้น รวมงบประมาณที่นาซ่าใช้ 324.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในการส่งยานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยครั้งนี้

แม้ต้องใช้เวลาตรวจสอบยืนยันอีกนานหลายสัปดาห์ถึงระดับความสำเร็จภารกิจ ทว่า ดร.ลอรี เกลซ ผู้อำนวยการด้านวิทยาดาวเคราะห์ของนาซ่าแสดงความมั่นใจว่าความสำเร็จครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้วแน่นอน

“มนุษยชาติกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคที่ เผ่าพันธุ์ของเรามีขีดความสามารถป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติล้างโลกอย่างการพุ่งชนของวัตถุในอวกาศ เป็นสิ่งวิเศษมาก ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีขีดความสามารถระดับนี้มาก่อน” ดร.เกลซ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า

ด้าน ดร.เอเลนา อดัมส์ วิศวกรควบคุมระบบภารกิจจาก JHU-APL ระบุ ชาวดาวโลกทุกคนน่าจะนอนหลับสนิทยิ่งขึ้น หลังทราบว่ามนุษยชาติตอนนี้มีหนทางป้องกันดาวเคราะห์โลก

รายงานระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์ความสำเร็จที่เกิดขึ้น และติดตามการเปลี่ยนแปลงทิศทางโคจรของ ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟส ที่โคจรรอบ ดิดีมอส ขณะที่กล้องโทรทัศน์บนพื้นโลกจะสังเกตการณ์เพื่อคำนวณหาค่าดัชนีที่แน่นอนของระบบดาวดังกล่าวต่อไป

ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟส ปกติใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง 55 นาทีในการโคจรรอบ ดิดีมอส โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ไดมอร์โฟสจะใช้เวลาโคจรรอบดิดีมอสน้อยลงหลายนาที หากการชนของยานดาร์ทเกิดขึ้นจริง

หลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นแรกจากกล้องของยานดาร์ต แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่นาซ่าวางไว้ ยานดาร์ตซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 22,000 ก.ม.ต่อช.ม. จะต้องแยกแยะเป้าหมายให้ได้ระหว่างดิดีมอสซึ่งมีขนาดใหญ่ และไดมอร์โฟสที่เล็กกว่า

จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์บนยานจะใช้แรงดันจากไอพ่น ปรับทิศทางยานเพื่อพุ่งเข้าชน เป้าหมาย ภาพไม่กี่วินาทีก่อนการชนพื้นผิว ไดมอร์โฟส สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ นักวิทยาศาสตร์ เพราะเผยให้เห็นพื้นผิวที่ แตกต่างกันระหว่างดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง

ภาพจากกล้องยานดาร์ตเผยให้เห็นว่า ดิดีมอสมีรูปทรงเพชร แม้จะมีก้อนหินอยู่บน พื้นผิวแต่บางส่วนเป็นพื้นราบ เป็นไปตามที่ ผู้เชี่ยวชาญคาดไว้ก่อนหน้า

ดร.แคโรลีน เอิร์นสต์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลอุปกรณ์บนยานดาร์ต กล่าวว่า ไดมอร์โฟสที่ถือเป็นดวงจันทร์ของดิดีมอส มีขนาดเล็กน่ารัก พื้นผิวเต็มไปด้วยเศษหิน คล้ายกองหินที่มากระจุกตัวรวมกันหยาบๆ

ยานดาร์ต เป็นคำย่อ ผู้ออกแบบเจตนาให้มีชื่อตรงตามหน้าที่ของยาน คือ “ลูกดอกปาเป้า”

ดร.แอนดี ริฟกิน ผู้นำภารกิจจาก JHU-APL กล่าวว่า ดาร์ตใช้เทคนิคการกระแทกเป้าหมายด้วยพลังงานจลน์ มีประโยชน์สำหรับการรับมือดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งตรงมายังโลกในอนาคต เป็นไอเดียไม่ซับซ้อน

ดร.ริฟกินกล่าวต่อว่า หากดาวเคราะห์น้อยมีทิศทางพุ่งมายังโลก มนุษย์เพียงส่งยานอวกาศไปพุ่งชน โดยอาศัยหลักการคำนวณพื้นๆ อย่างมวลและอัตราเร็ว เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางดาวเคราะห์น้อยให้พุ่งผ่านโลกไป

นาซ่าจงใจเลือกไดมอร์โฟสและดิดีมอสเป็นเป้าหมายทดสอบ อย่างระมัดระวังที่สุด ดาวเคราะห์น้อยทั้งคู่ไม่มีทิศทางพุ่งมา ที่โลก และทิศทางหลังพุ่งชนจะไม่ส่งผลให้ความเสี่ยงอันตรายต่อโลกเพิ่มขึ้น

ทว่า อวกาศนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ยังมีดาวเคราะห์น้อยที่ “อาจจะ” พุ่งชนโลกจนก่อให้เกิดอุบัติการณ์ระดับล้างโลกได้ แม้นาซ่าสามารถค้นพบพวกมันแล้วกว่าร้อยละ 95 แต่ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอีกจำนวนมาก ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายสุดขั้วกับโลกได้

วัตถุในอวกาศขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟส หากพุ่งชนโลกจะก่อให้เกิดหลุมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ก.ม. ลึกหลายร้อยเมตร และความเสียหายโดยรอบรุนแรง จึงนำมาสู่การทดสอบแนวทางการเบี่ยงทิศและลดความเร็วพวกมันลง

การเบี่ยงทิศและปรับเปลี่ยนความเร็วของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องมีผลมากนักหากดำเนินการล่วงหน้า กรณีคำนวณพบว่าจะพุ่งชนโลกแน่นอน

แม้ภาพจากกล้องยานดาร์ต จะตัดจบลงที่วินาทีการกระแทกกับพื้นผิวไดมอร์โฟส แต่หลายสัปดาห์ต่อจากนี้ นาซ่าและประชาคมโลกจะได้ชมภาพจากยานอวกาศลำอื่นที่คอยสังเกตการณ์การพุ่งกระแทกด้วย

ภาพดังกล่าวมาจากดาวเทียมถ่ายภาพ ลิเชียคิวบ์ (LICIACube) อภินันทนาการจากองค์การบริหารอวกาศของอิตาลี ที่บันทึกภาพตามหลังยานดาร์ตราว 3 นาที ห่างจากจุดทดสอบประมาณ 50 ก.ม. น่าจะเผยให้เห็นทั้งตอนพุ่งกระแทก และร่องรอยการกระแทกบนไดมอร์โฟส

ที่เหลือต่อจากนี้จะส่งไม้ต่อไปที่องค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ ซึ่งมีกำหนดจะส่งยานสำรวจ 3 ลำ เดินทางไปยังระบบดาวเคราะห์น้อยข้างต้น เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในอีก 4 ปีข้างหน้า

ทีมข่าวสดไอที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน