เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและผู้สื่อข่าวเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าเยี่ยมชม บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ หรือที่รู้จักกันในนาม EA ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

โดยมี คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA พร้อมผู้บริหารและ เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชม พร้อมเล่าให้ฟังว่า

ธุรกิจภายใต้อาณาจักร EA มีหลากหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะธุรกิจดั้งเดิม ตั้งแต่เริ่มต้น ผลิตไบโอดีเซล โดยมีโรงงานแห่งแรกที่ อ.กบินทร์บุรี เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลที่นำไปเป็นวัตถุดิบต่างๆ ไบโอเคมี หรือแม้แต่ไบโอเจ็ต หรือน้ำมันเครื่องบินที่ได้จากพืช ไม่ใช่จากฟอสซิล ที่เตรียมเปิดตัวเพื่อใช้งานในเร็วๆ นี้

มีโรงงานไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โรงงานไฟฟ้าพลังงานลม ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งต้องการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ

จึงตัดสินใจเข้าไปผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สัญชาติไต้หวัน อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการผลิตแบตเตอรี่มายาวนานกว่า 20 ปี








Advertisement

นำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า มาตั้งโรงงานผลิตที่บ้านเรา

ภายใต้ชื่อ อมิตา เทคโนโลยี ประเทศไทย และได้กลายเป็นโรงงานหลักในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โรงงานแห่งนี้นอกจากใช้เทคโนโลยีอัน ทันสมัยแล้ว ยังเตรียมรองรับการขยายตัวและความต้องการใช้งานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเร็ววันนี้ จากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ

เฟสแรกปี 2564 ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตที่ 1 kWh หรือคิดเป็นการผลิตได้ 6 ล้านเซลล์ต่อปี ส่วนในปี 2566 ขยายกำลังการผลิตเป็น 4 kWh ต่อปี พร้อมทั้งมีแผนในการขยายกำลังการผลิตให้เป็น 50 kWh ต่อปี คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท

ขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอมิตา เทคโนโลยี มีความ แตกต่างและโดดเด่นกว่าทั่วไปนอกจากความยืดหยุ่นสูง

ประกอบเป็นแพ็กแบตเตอรี่ได้ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น 7 เซลล์ 14 เซลล์ หรือแม้แต่ 21 เซลล์ ก็สามารถทำได้

ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ได้เซลล์แบตเตอรี่ที่มีความจุพลังงานไฟฟ้าได้มากและเร็ว อัดประจุไฟฟ้าจาก 0-80% ใช้เวลา 15 นาที และเต็ม 100% ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

มีน้ำหนักเบา อายุการใช้งานยาวนาน ชาร์จซ้ำได้ 3,000 ครั้ง ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังนำไปรีไซเคิลได้ง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานความปลอดภัย ด้วยแผ่น PE ที่กั้นระหว่างเซลล์ ซึ่งจะหลอมเหลวกั้นระหว่างอะตอมเมื่อมีความร้อนสูง หรือเกิดการชอร์ต

เป็นการหยุดกระบวนการ ทำให้ไม่เกิดการระเบิดหรือไฟไหม้ พร้อมกันนี้ ยังกันน้ำกันฝุ่น ด้วยมาตรฐาน IP 67 เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานกับยานยนต์ไฟฟ้า

พูดถึงยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ซีอีโอพลังงานบริสุทธิ์ภูมิใจสุดๆ ในการนำเสนอโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้า 100% แอ๊บโซลูตแอสเซมบลี

ป้อนให้กับผู้ได้รับสัมปทานจากขสมก. และรถไมโครบัสวิ่งระหว่างเมือง เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-จ.ชลบุรี ที่ก่อสร้างใหม่ล่าสุดด้วยเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เปิดเดินสายการผลิตเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นี้เอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 80 ไร่ พื้นที่การผลิตของโรงงานประมาณ 55,000 ตารางเมตร ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

เริ่มแรกมีกำลังการผลิต 1-2 คันต่อวัน แต่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและฝีมือแรงงานของพนักงานที่มีอยู่รวมกว่า 700 ชีวิต ทำให้ปัจจุบันสามารถผลิตรถโดยสารเป็น 10 คันต่อวัน

ใช้ชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศประมาณ 50% ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนจากโครงการอาฟต้า

ภายในสิ้นปีนี้เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เป็น 30 คันต่อวัน และภายในปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มเป็น 80 คันต่อวันเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่ได้รับสัมปทานจากขสมก. 123 สาย ซึ่งมีความต้องการอยู่ที่กว่า 3,000 คัน

โรงงานแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คืองานโครงสร้างตัวถัง งานระบบ และงานชุบสี เรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้า 100% ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

โดยในส่วนของงานชุบสี มีบ่อชุบสีอยู่รวม 11 บ่อ เริ่มตั้งแต่ บ่อล้างฝุ่น บ่อเตรียมพื้นผิว บ่อชุบรองพื้น บ่อชุบกันสนิม ไปจนถึงบ่อหุ่นยนต์พ่นสี ซึ่งปกติทั่วไปใช้การทาสี

ทำให้รถโดยสารไฟฟ้าของโรงงานแห่งนี้มีความสวยงาม เพราะเนื้อสีซึมเข้าไปในพื้นผิวได้ดีกว่า อีกทั้งยังทนทาน ใช้งานได้ยาวนาน

เมื่องานโครงสร้างตัวถังและการชุบสีเสร็จแล้ว เข้าสู่กระบวนการงานระบบ ตั้งแต่เดินสายไฟ เบาะที่นั่ง โดยติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ที่บริเวณหลังคารถ ทำให้ประหยัดพื้นที่ไปได้ค่อนข้างมาก

กระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็น รถโดยสารพร้อมส่งมอบให้ลูกค้า 1 คัน ใช้เวลารวม 5 วัน ซึ่งถือได้ว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับโรงงานผลิตรถโดยสารทั่วไป

ผู้บริหารหนุ่มใหญ่อารมณ์ดียังแย้มให้ฟังอีกว่า โรงงานแห่งนี้ไม่ได้ผลิตเพียงแค่ รถโดยสารเท่านั้น เพราะมีทีมวิจัยพัฒนา ยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ทยอยออกมาป้อนความต้องการของตลาด

เช่น ภายในเดือนต.ค.นี้พร้อมเปิดตัวรถปิกอัพไฟฟ้า 100% สัญชาติไทย ภายใต้แบรนด์ ‘ไมน์’ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มรถเอสยูวี ไมน์ สปา 1

เน้นจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มลูกค้าองค์กร กลุ่มโลจิสติกส์ เจ้าของกิจการ รวมถึงลูกค้าทั่วไปที่ต้องการความประหยัด และ รักษ์โลก

ส่วนผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ในอนาคตมีเพิ่มเติมอีกอย่างแน่นอน โปรดอดใจรอ กระซิบได้คำเดียวว่า หากได้เห็น ได้ลองใช้งานแล้ว ว้าว! แน่นอน

ต้องขอขอบคุณเจ้าบ้านที่สละเวลามาแบ่งปันความรู้ในครั้งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน