แล้วนาคก็กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย เพื่อนบ้านละคะ เขาก็มีนาคนี่นา

ซุปไก่

ตอบ ซุปไก่

จากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ “นาค” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน โดยระบุว่าเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตสะท้อนถึงตำนานและความเชื่อมาแต่อดีต สื่อออกมาผ่านทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและ นำรายได้เข้าประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีรายงาน “นาค ก่อนครม.ยกเป็นเอกลักษณ์ชาติไทย คือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ‘บรรพสตรี’ แห่งอุษาคเนย์” เผยแพร่ทางมติชนออนไลน์ ว่า นาค ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะไทย หากแต่เป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ของชาวอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มชนสองฟากแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลยูนนานลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขงในเขตเขมรกับญวน มีลัทธิบูชานาค เชื่อกันว่านาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดแม่น้ำลำคลอง เกิดความอุดมสมบูรณ์ และอาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติได้ เช่น ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเมืองล่มจม

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และเจ้าของผลงานหนังสือ นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ และนาคมาจากไหน? เผยข้อมูลว่า นาคเป็นสัญลักษณ์ของระบบความเชื่อหรือศาสนาดั้งเดิมของกลุ่มชนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่หนองแสลงมาถึงลุ่มแม่น้ำโขง เป็นลัทธิที่เกี่ยวกับการบูชางู ที่เรียกกันภายหลังว่านาค

ภาชนะเขียนสีที่บ้านเชียงซึ่งเป็นรูปวงกลม ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงูหรือนาค ลายเขียนสีบางชุดมีรูปหัวงู ซึ่งท่านอาจารย์ชิน อยู่ดี นักปราชญ์ไทยด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของงู








Advertisement

นาค เป็นสิ่งที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ สามารถบันดาลให้เกิดแม่น้ำ หนอง บึง ภูเขา และแหล่งที่อยู่อาศัย นาคใน อุษาคเนย์มีที่อยู่ใต้ดิน เรียกว่าบาดาล หรือนาคพิภพ ครั้นวัฒนธรรมอินเดียโดยเฉพาะพราหมณ์กับพุทธแพร่หลายเข้ามา ก็มีนาคชุดใหม่อยู่บนฟ้าตามคติอินเดีย ลัทธิบูชานาคก็ได้ผสมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่

ดังนั้น จะเห็นว่าเรื่องพระพุทธเจ้าทรงทรมานนาคก็ดี เรื่องพระอิศวรกับพระนารายณ์ (พระกฤษณะ) รบกับพญานาคก็ดี ในตำนานอุรังคธาตุนั้น เป็นการแสดงถึงชัยชนะของศาสนาใหม่ที่มีต่อระบบความเชื่อหรือศาสนาเก่า

นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่บอกเล่าว่า แม่น้ำโขง เกิดจากนาคต่อสู้กัน ดังปรากฏในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (อยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 72) จดไว้ในรูปนิทานว่า พวกนาคที่อยู่หนองแส (ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของจีน) ทะเลาะวิวาทกัน นาคพวกหนึ่งต้องหนี การหนีตายของนาคพวกนี้ทำให้เกิดการคุ้ยควักแผ่นดินที่ผ่านไปเป็นร่องน้ำ แล้วกลายเป็นแม่น้ำโขง

ฉบับพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) พบกับ “นางนาค” บรรพสตรีแห่งอุษาคเนย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน