หมายเหตุ – นักวิชาการได้สะท้อนมุมมอง ต่อสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้น การประชุมเอเปค โดยเฉพาะการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ การย้ายขั้วย้ายพรรคของนักการเมือง รวมถึงท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังอยู่พรรค พลังประชารัฐต่อหรือย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สำคัญหากจะดำรงตำแหน่งนายกฯ จะมีวาระได้ อีกแค่ 2 ปี

ยุทธพร อิสรชัย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สถานการณ์หลังการประชุมเอเปค อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อาจมีการยุบสภา หรือเกิดการเคลื่อนไหวของพรรคต่างๆ มากมาย รวมทั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ และเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง

การยุบสภา คิดว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมี.ค. เพื่อยืดเวลารักษาการออกไปอีก 60 วัน และเกิดการขยายเวลาเลือกตั้งจาก 45 วัน เป็นไม่เกิน 60 วัน และจะทำให้การเข้าสังกัดพรรค ย่อลง จาก 90 วันเหลือ 30 วัน เพราะการยุบสภาที่จะเกิดขึ้น น่าจะมีส.ส.จำนวนไม่น้อยที่ย้ายพรรค

ส่วนการตัดสินใจทางการมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแนวโน้มสูงที่จะไปอยู่กับพรรครวมไทย สร้างชาติ มีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกฯ สูง เพราะเรา จะเห็นว่า รวมไทยสร้างชาติ เปิดประตูบ้าน รอแค่แขกเข้าไปเท่านั้น

หากพล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นพรรคขนาดกลางหรือค่อนข้างใหญ่ ส่วนรวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคขนาดกลาง แต่เดี๋ยวก็ไปรวมกันในสภา เพราะในพลังประชารัฐมีหลายกลุ่ม มีทั้งทีมลุงตู่ ทีมลุงป้อม จึงต้องมีการแตกออกไป

ส่วนพรรคไหนจะได้มากกว่ากัน ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะพลังประชารัฐ มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น แคนดิเดตนายกฯ รวมไทยสร้างชาติก็มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ และอาจมีแคนดิเดตสำรอง เพราะพลังประชารัฐเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงชื่อเดียว จนมีปัญหาเรื่องนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พลังประชารัฐเกือบไม่รอด

ดังนั้น การที่พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ มีผลอย่างแน่นอน เช่น ส.ส.ในพลังประชารัฐ ทีมลุงตู่จะตามไป ส่วนทีมลุงป้อมก็อยู่ต่อ และอาจมี ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติด้วยไม่น้อย ซึ่งสะท้อนว่าทิศทางการเมืองอาจมีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาเชิงโครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กร คนเก่าแก่เดินออก ส่วนคนรุ่นใหม่สร้างได้ยาก หากยังไม่ปรับตัว ถือว่าน่ากังวลมาก ประชาธิปัตย์มีส.ส. 52 คน ย้ายออกร่วม 10 คน คิดแล้วร่วม 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าหลังเอเปคจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ส.ส.พรรครัฐบาล จะมีความเคลื่อนไหวย้ายพรรคเยอะ โดยเฉพาะการย้ายพรรคย้ายขั้ว เปิดตัวกับพรรคใหม่ เพราะสัญญาณการเลือกตั้งพร้อมหมดแล้ว กฎหมายงบประมาณผ่านแล้ว การโยกย้ายข้าราชการประจำก็ไม่ได้มีผลกะทบมากนักต่อการยุบสภา

ส่วนผลกระทบต่อฝ่ายค้านก็มีไม่น้อย แต่ไม่มาก เพราะทราบอยู่แล้วว่า มีทั้งส.ส.งูเห่า ส.ส.ฝากเลี้ยง โดยส.ส.พรรคเพื่อไทยจะไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทย ส่วนพรรคก้าวไกลก็ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย ตรงนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเอเปค

สำหรับประเด็นในสภา ที่มีทั้งเรื่องร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง และญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ก็ไม่มีผลทำให้เกิดการ ยุบสภาอยู่แล้ว เพราะการอภิปรายโดยไม่ลงมติ ไม่มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล เพียงแต่ทำให้เกิดการตั้งประเด็นของฝ่ายค้านที่นำไปสู้ในการเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายกัญชาก็เป็นความเห็นต่างของพรรคภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐไม่น่ามีปัญหา ดังนั้น กฎหมายกัญชาจึงขึ้นอยู่กับ 2 พรรค คือภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ แต่เชื่อว่ากฎหมายกัญชาน่าจะผ่านสภา เพราะภูมิใจไทยคุยกับพรรคต่างๆ ได้ดี ไม่ทำให้เกิดการ ต่อรอง ดังนั้น ทั้ง 2 เรื่อง จึงไม่ถึงขั้นทำให้ต้องยุบสภา

ส่วนปัจจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ ณ เวลานี้ คงมีน้อยมาก เพราะในประเด็นต่างๆ ถูกคลี่คลายแล้ว เช่น นายกฯ 8 ปี

แต่อยู่ที่ว่า เมื่อครบวาระแล้วจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะ มีหลายปัจจัยที่ยังรออยู่ เช่น กฎหมายลูกเกี่ยวกับสูตรปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 หาร 100 ต้องรอดูศาลว่าจะวินิจฉัยอย่างไร หากวินิจัยว่าผิดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาร่างกันใหม่ ให้เสร็จใน 180 วัน แต่อายุรัฐบาลเหลือไม่ถึง 180 วันแล้ว ก็จะเป็นปัญหาตามมาอีก

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานการณ์การเมืองหลังการประชุมเอเปค คิดว่าน่าจะมีการชุมนุมหรือแสดงพลังอย่างต่อเนื่อง ทิศทางการเมืองในประเทศอาจจะรุนแรงมากขึ้น หากพูดกันตามความจริง ทุกคนรู้ว่าแนวโน้มขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในตำแหน่งเต็มที่คือ ช่วงเดือนมี.ค.2566 เว้นแต่พล.อ.ประยุทธ์จะรู้สึกว่าถ้าตัวเองยืนอยู่จนถึงเดือนมี.ค.แล้วจะเสียประโยชน์ หรือคิดว่าคงไม่สามารถควบคุมอะไรได้แล้ว ก็คงจะยุบสภา

แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นโอกาสหรือความจำเป็นใดๆ ที่จะยุบสภา ส่วนที่บอกว่าจะยุบสภาหลังประชุมเอเปคเสร็จสิ้น ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ที่พูดกันมานาน แต่ผมไม่เคยเชื่อมั่นในคำสัญญาประเภทนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่ได้ให้สัญญาด้วย เพียงแต่เป็นสัญญาณว่า หากประชุมเอเปคจบลงก็คงยุบสภา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้น

สำหรับการเมืองในสภาที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ มีสัญญาณว่าทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน กำลังขับเคี่ยวกันในเรื่องนี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องวิ่งวุ่นลงพื้นที่พร้อมกับการทำหน้าที่ในสภา จึงคิดว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ต้องดูกันตามความเป็นจริง หากส.ส.ไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ต้องคอยโหวตร่างกฎหมาย และหากร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลแพ้โหวต ก็ต้องยุบสภาตามธรรมเนียม แต่หากเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้านแล้วรัฐบาลไม่เห็นด้วย ก็จะเกิดกระบวนการอื่นๆ

ขณะที่ความชัดเจนทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตามองว่าจะอยู่ต่อกับพรรคพลังประชารัฐ หรือ ตัดสินใจไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติประกาศว่าจะเสนอมาตรการปรองดอง ด้วยการเสนอนโยบายร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ซึ่งผมไม่มั่นใจว่าจะเป็นข้อเสนอที่ยอมรับกันได้หรือไม่ อาจเป็นข้อเสนอที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ดูดีขึ้น แต่อีกมุมพล.อ.ประยุทธ์ก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดความ ขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนการเคลื่อนไหวของส.ส.ที่มีการย้ายเข้า ย้ายออก สถานการณ์การเมืองในส่วนนี้จะมีเส้นตายตามที่กฎหมายกำหนด ว่าสามารถย้ายพรรคได้ถึงช่วงเวลาไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ส.ส.ต้องคิดแล้วว่าจะอยู่หรือไป

ส่วนตัวคิดว่า การเมืองรอบถัดไป ความน่าสนใจจะพุ่งไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะกลายเป็นพรรคขนาดเล็กเลยหรือไม่ ขณะที่พลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ ถ้านับจากฐานเดิมจะเหลือกี่ที่นั่ง เลือดจะไหลขนาดไหน ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.มากขึ้นหรือไม่ และพรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นพรรคอันดับ 3 จะสามารถรักษาความเป็นพรรคอันดับ 3 ได้หรือไม่

ทั้งหมดล้วนน่าจับตามอง เพราะการเลือกตั้งรอบนี้ เป็นเหมือนการเก็งกำไร และการทุบหุ้นเหมือนกัน คือเราจะเห็นในจุดที่เป็นโอกาส และความเป็นไปได้ ซึ่งก่อนสิ้นปีนี้เราจะเห็นทุกอย่างชัดเจน ไม่ว่าเราจะเห็นการยุบสภาหลังการประชุมเอเปคหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของสนามการเลือกตั้งรอบหน้า อยู่ที่พรรคเพื่อไทยที่ประกาศแลนด์สไลด์ รวมถึงเวทีของพรรคขนาดกลาง และเล็ก ซึ่งประเมินว่าพรรคขนาดกลางอาจจะเป็นตัวชี้ขาดมากขึ้น จากเดิมที่เราบอกว่าตัวชี้ขาดคือพรรคอันดับ 1 แต่ครั้งนี้เราอาจต้องดูพรรคขนาดกลางมากขึ้น อาจมีอำนาจการต่อรอง และความสามารถในการรักษาฐานเสียง คะแนนเสียง ได้มั่นคงกว่าพรรคที่เคยเป็นพรรคใหญ่

ดังนั้น สนามการเมืองจะหล่นไปที่การเมืองระดับกลาง พรรคขนาดกลาง แต่ยังไม่มีอะไรแน่นอนจนกว่าจะยุบสภาจริงๆ

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

อาจารย์คณะนิติศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยธรรมชาติของพรรคพลังประชารัฐนั้น ก่อตั้ง ขึ้นมาโดยผลพวงกลไกทางการเมือง และกฎหมาย เป็นเหมือนการจัดตั้งพรรคขึ้นมาเป็นพรรคเฉพาะกาลในปี 2562 เพื่อการนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แต่จากการทำงานมา ระหว่างทาง 4 ปีนั้น มันก็สะท้อนว่า พรรคมีรอยร้าวอยู่สูง พอสมควร

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐก็มีหลายกลุ่มก้อน และมี 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่สนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และกลุ่มที่สนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

แต่ยังไม่รวมกับพรรคที่ออกมาตั้งเป็นเหมือนพรรครองรับอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ไม่ถือว่าเกิน ความคาดหมายเรื่องตั้งพรรคนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีบุคคลในพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกจากพรรคและมาจัดตั้งพรรคนี้เพื่อรองรับการสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ

หากพล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วพรรคพลังประชารัฐจะยังไงต่อนั้น ต้องบอกว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยวางตัวเชื่อมโยงกับพลังประชารัฐอยู่แล้ว ทั้งการที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ ก็เกิดจากการพลังประชารัฐ เป็นคนไปเชิญให้มาเป็นนายกฯคนนอกของพรรค จึงทำให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ มีความเชื่อมโยง หรือเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเลย ถ้ามองอย่างนี้แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกันและไม่ได้มีผลอะไร หากพล.อ.ประยุทธ์ไปรวมไทยสร้างชาติ

เพียงแต่ตอนนี้มีการพูดคุยต่อรองกัน ทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายที่สนับสนุนพล.อ. ประวิตร ว่าต่อไปนี้จะยังเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อยู่อีกหรือไม่เท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการลงตัวกัน เพราะตอนนี้ทุกคนมุ่งตรงไปยังประชุมเอเปคก่อน

การเคลื่อนไหวของส.ส.ในการย้ายพรรคนั้น ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักถ้าย้ายในฝ่ายเดียวกัน แต่ถ้าย้ายข้ามฝ่าย จะมีผลมาก อย่างไรก็ตาม การย้ายพรรคในตอนนี้ยังถือว่า ไม่สะเด็ดน้ำ ถ้าจะดูกันจริงๆ คงใกล้เลือกตั้ง และหลังเอเปค การย้ายพรรคน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

วันนี้ มองการเมืองยังนิ่งๆ อยู่ ส่วนเรื่องยุบสภา คง ยังไม่ต้องพูดถึง เพราะเชื่อว่าถ้าจะยุบสภาจริง ต้องมีเรื่อง มีประเด็นกันสุดๆ ถึงจะยุบ และตอนนี้ก็ยังไม่สามารถ พูดได้ว่า จะยุบได้หรือไม่ได้ เพราะการเมืองไทยเป็นแบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้มองอนาคตไกลๆ

ผมเชื่อว่าเขายังไม่ได้มองเรื่องไกลๆ ในตอนนี้ เพราะอย่าลืมว่า การยุบสภาไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่ยุบ ต้องคิดแล้วว่ายุบไปแล้ว ตัวเองพร้อมไหม จะกลับมาได้อีกหรือไม่ ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะยังไม่ยุบสภาตอนนี้ เพราะสถานการณ์ฝุ่นตลบของทั้งพล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคลียร์กัน อีกทั้งยังมีกฎหมายลูก 2 ฉบับที่ยังค้างพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญอยู่

สุดท้ายแล้ว ต้องจับตาหลังประชุมเอเปค เพราะอย่าลืมว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์จัดประชุมเอเปค เขาอาจมองว่ามันมีส่วนในเรื่องคะแนนความนิยมและคะแนนเสียงของเขาด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีผลสำรวจออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังติดอันดับ 3 ของคนที่อยากให้เป็นนายกฯอยู่

ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายเขาพยายามจะสร้างคะแนนของเขาเองให้ได้มากที่สุด หลังจบประชุมเอเปค ทั้งพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ คงมาประเมินกันว่าเหมาะที่จะให้เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน