ในอดีตเกษตรกรภาคอีสานมักเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากเป็น สัตว์เศรษฐกิจที่มีอนาคต และเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก โดยมี การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และแปรรูปจิ้งหรีดในหลากหลาย รูปแบบไม่ว่าจะเป็นทอด อบ หรือทำเป็นผง เพื่อนำไปผสมในอาหารคาว-หวาน ซึ่งนอกจากจะบริโภคกันในประเทศแล้ว ยังส่งออกไป ต่างประเทศด้วย

วันก่อน ‘ผศ.นนทนันท์ พลพันธ์’ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ร้อยเอ็ด นำผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปจิ้งหรีดมาโชว์ ในงานสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติครบรอบ 63 ปีที่วช. เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทาง ผศ.นนทนันท์ และคณะ ได้รับทุนสนับสนุนจากวช. รวมทั้งโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ในการผลิต ‘เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง’ ทำให้ได้จิ้งหรีด อบแห้งที่มีคุณภาพดี เมื่อทำเป็นจิ้งหรีด บดแห้งขายได้กิโลกรัม(ก.ก.) ละ 1,000 บาท

สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วันต่อ 1 รุ่น หรือ 1 รอบการผลิต เลี้ยงในบ่อเลี้ยงขนาด 120 ซ.ม.x2.40 ม. ผลผลิตต่อรอบประมาณ 20-25 ก.ก./บ่อ มีรายได้บ่อละประมาณ 1,000-1,500 บาท โดยใน 1 รอบ จำนวน 30 บ่อ จะได้กำไรอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ประมาณ 6-7 รอบ รอบละ 45 วัน แต่ปัจจุบันอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดมีราคาแพง จึงเกิดปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น

“การเลี้ยงจิ้งหรีดถือเป็นอาชีพที่ดี ไม่ยุ่งยากอะไร ใครๆ ก็เลี้ยงได้ คนสูงอายุสามารถเลี้ยงอยู่กับบ้านได้ แค่ตักอาหารสำเร็จรูป และน้ำใส่ถาดให้จิ้งหรีดเช้าและเย็น บางฟาร์มอาจพบปัญหาโรคขาอ่อน จากการลอกคราบหลังจากที่เจริญเติบโต เต็มวัยได้ แต่พบไม่บ่อยนัก”








Advertisement

ผศ.นนทนันท์เล่าที่มาที่ไปของการผลิต ‘เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง’ ว่า ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรขายจิ้งหรีดแบบสด หรือแช่แข็งเป็นหลัก ในราคาขายปลีกก.ก.ละ 100-120 บาท ส่วนราคาขายส่งให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปแปรรูปต่อ ขายก.ก.ละ 90 บาท เกษตรกรจึงต้องผลิตจิ้งหรีดจำนวนมาก และต้องใช้ตู้แช่แข็ง ทำให้มีต้นทุนในการเก็บรักษาสูงมาก อีกทั้งการขนส่งสินค้าไปหาลูกค้าที่อยู่ห่างไกลมีความยากลำบาก และมีต้นทุนการขนส่งที่แพง เนื่องจากต้องใช้การขนส่งที่มีระบบแช่แข็ง เพื่อส่งไปยังลูกค้าปลายทาง ส่งผลให้ลูกค้าต้องซื้อจิ้งหรีดในราคาที่สูงขึ้นด้วย

คณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการอบแห้งจิ้งหรีด ด้วยเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน ซึ่งประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วย สามารถลดความชื้นจิ้งหรีดปริมาณน้ำอิสระน้อยกว่า 0.6 เป็นระดับที่ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ก่อโรค และยับยั้ง การสร้างสารพิษของเชื้อรา การอบแห้งด้วยเทคนิคนี้ใช้อุณหภูมิในการอบแห้งที่ต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังการอบแห้งจึงมีคุณภาพที่ดี และยังได้ศึกษา รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้งอีกด้วย โดยในการทำจิ้งหรีดผง 1 ก.ก. ใช้จิ้งหรีดสดประมาณ 4 ก.ก. ขายได้ก.ก.ละ 1 พันบาท เพิ่มมูลค่า ได้มากกว่า 200% เทียบกับการขายจิ้งหรีดสดแบบแช่แข็ง

ผศ.นนทนันท์บอกว่า ได้เข้าไปช่วยแนะนำการแปรรูปจิ้งหรีด ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและแปรรูป ต.เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มีสมาชิกประมาณ 15 คน โดยประธานกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดในโรงเรือน หรือประมาณ 60 บ่อ ส่วนสมาชิกเลี้ยงคนละ 5-10 บ่อ ส่วนมากเลี้ยงกันตามบ้านใต้ถุน หรือบริเวณโรงจอดรถ ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบปลอดภัย (GAP) คณะผู้วิจัยเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงศึกษาเรื่องการลดต้นทุนในกระบวนการเก็บรักษาจิ้งหรีด รวมทั้งศึกษาการแปรรูปจิ้งหรีดเป็นผลิตภัณฑ์ใน รูปแบบง่ายๆ จนพบว่าการ อบแห้งจิ้งหรีดเป็นผงโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อความสะดวกในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ง่ายขึ้น และได้ราคาสูง ปัจจุบันวิสาหกิจกลุ่มนี้ขายจิ้งหรีดบดให้แก่กลุ่มผู้แปรรูปจิ้งหรีด เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์เส้นผสมจิ้งหรีด ผสมเป็นเค้ก คัพเค้กหรือคุกกี้ได้ใน ราคาก.ก.ละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้ไปช่วยทางคณิสรฟาร์ม แมงอินเตอร์ของ นายชำนาญ คุ้มไพร เอสเอ็มอีของ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ระดับประเทศจากการประกวด ‘เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2563’ และมีชื่อเสียง ทีมวิจัยจึงได้เข้าไปส่งเสริมในส่วนที่ยังขาดอยู่ เพราะเดิมทีฟาร์มก็มีตลาดที่เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปจิ้งหรีด อยู่แล้ว จึงเข้าไปส่งเสริมเรื่องการเพิ่มมูลค่าจิ้งหรีด โดยพัฒนาเป็นจิ้งหรีดทอดกรอบรสชาติต่างๆ เช่น รสดั้งเดิม ลาบ กะเพรากรอบ และรสสมุนไพรอื่นๆ หลักๆ จะใช้สมุนไพรในท้องถิ่น รสลาบถือเป็นรสชาติที่ถูกปากคนอีสาน และขายดีกว่ารสชาติอื่น

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ผงจิ้งหรีดในบ้านเรายังมีตลาดไม่กว้างนัก ถ้าเทียบกับตลาดต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นตลาดต่างประเทศการส่งออก จะต้องดูว่าได้มาตรฐาน GAP หรือไม่ ทำให้รายได้หลักๆ ของเกษตรกรในภาคอีสานคือ การทำจิ้งหรีดสดแช่แข็ง

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงบางส่วนได้นำผงจิ้งหรีดไปแปรรูปทำ เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกเผาจิ้งหรีด และโจ๊กจิ้งหรีด

ผศ.นนทนันท์บอกว่า ในปีงบประมาณ 2566 นี้ กำลังเจรจาของทุนวช. เพื่อต่อยอดการแปรรูปผงจิ้งหรีด ทำเป็น Protein hydrolysate ซึ่งเป็นโปรตีนหน่วยย่อยของโปรตีนจิ้งหรีดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่าย และปัญหาเรื่องกลิ่นเฉพาะตัวของจิ้งหรีดจะลดน้อยลง

สนใจกระบวนการแปรรูปเป็นผงจิ้งหรีด หรือการเลี้ยงจิ้งหรีด ตามมาตรฐาน GAP ติดต่อ ผศ.นนทนันท์ ได้ที่โทร. 09-8104-6832

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน