ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่างพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระบวนการหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ห่างกัน 1 สัปดาห์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและแถลงคำวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามที่สมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อ ต่อประธานรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังทราบข่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผ่านร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไม่ได้แสดงความรู้สึกแปลกใจ

แต่กลับยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลต่อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มากกว่า

ก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. เกิดเหตุ พลิกผันหลายครั้งระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ในประเด็นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เริ่มจากสูตรหาร 100 พลิกเป็นหาร 500 ก่อนเกิดเหตุสภาล่ม ในวันสุดท้าย ทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกรอบ 180 วัน

ผลคือทำให้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 สูตรหาร 500 ต้องพลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 อีกครั้ง ตามร่างฉบับที่ครม.เสนอต่อที่ประชุมวาระแรก ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1)

ต่อมาสมาชิกส.ส.และส.ว. 105 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป. เลือกตั้ง สูตรหาร 100 ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

การเสนอร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป. การเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง

จากบัตรใบเดียวเป็น 2 ใบ สำหรับเลือกส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ เปลี่ยนสัดส่วนส.ส.เขตต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 ต่อ 150 มาเป็น 400 ต่อ 100 ซึ่งเป็นระบบที่จะใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผ่านเช่นเดียวกับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องดี ทุกอย่างจะได้ ราบรื่นไม่ติดขัด แต่หากไม่ผ่าน ก็หวังได้รับคำชี้แนะว่าจะต้องปรับแก้ในประเด็นใด อย่างไร ให้ทันท่วงที ต่อการเลือกตั้งซึ่งใกล้เข้ามา

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศการเลือกตั้ง ป้องกันไม่ให้ฝ่ายอำนาจ ฉวยโอกาสออกกฎกติกาเร่งด่วน สร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองฝ่ายตนไม่ว่าพรรคเก่า หรือพรรคตั้งใหม่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน