มติศาลรัฐธรรมนูญชี้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

โดยที่หลายฝ่ายฟันธงว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบ พรรคเล็กจะสูญพันธุ์

ในความเป็นจริง ตัวชี้ขาดผลแพ้-ชนะในการ เลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

มรภ.อุบลราชธานี

สูตรหาร 100 ที่หลายคนติดตาม จะทำให้การเมืองคึกคักขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประชาชนหันมาสนใจการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ เป็นการกลับไปใช้วิธีเลือกตั้งหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 คือมีบัญชีรายชื่อ 100 คน แบบเขต 400 คน ซึ่งขณะนั้นเกิดปรากฏการณ์พรรคไทยรักไทยชนะท่วมท้นได้จัดตั้งรัฐบาล ครั้งนี้ก็จะกลับไปเป็นเช่นนั้นอีก

สูตรหาร 100 จะเอื้อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ จะมีพรรคเด่นๆ อยู่ไม่กี่พรรค ที่จะเป็นตัวดึงคะแนน พรรคเล็กๆ จะอยู่ต่อไปไม่ได้คงสูญพันธุ์ รวมไปถึงพรรคสาขาต่างๆ ต้องรีบปรับตัว

เมื่อกลับไปใช้บัตรสองใบ เบอร์ผู้สมัครกับเบอร์พรรคจะไม่ใช่เลขเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นปัญหา แต่จะทำให้ชาวบ้านตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น ผลการคำนวณก็จะมีผลต่อคะแนนที่ลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ชาวบ้านคงโล่งใจและชอบใจหลังจากผู้มีอำนาจพยายามสร้างกลไกที่ซับซ้อนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

การใช้สูตรหาร 100 กับบัตรสองใบไม่น่าจะมีปัญหา อาจมีนิดเดียวคือเบอร์พรรคกับเบอร์เขตเป็นคนละเบอร์ กกต.ต้องประชาสัมพันธ์ ทำการบ้านเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ

แต่จะเป็นปัญหาหรือไม่หากพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะตัวแปรคือ 250 ส.ว. แต่ยังมองว่าหากพรรคใดมีคะแนนเสียงจำนวนมาก สมมติเพื่อไทยได้คะแนนนำเยอะ หรือเกินครึ่ง ส.ว.คงไม่กล้าโหวตขัดประชามติประชาชน หรือพรรคที่ไม่ใช่แกนนำรัฐบาลขณะนี้ได้คะแนนนำแล้วไปดึงพรรคอื่นมาร่วม ก็คิดว่า ส.ว. คงไม่กล้าโหวตสวน เพราะเช่นนั้นคงเกิดปัญหาวุ่นวายอีกครั้งแน่นอน

ตัวชี้วัดที่แท้จริงว่าใครจะชนะเลือกตั้งคิดว่าตัวหลักยังเดิมๆ คือนโยบายของพรรคโดนใจประชาชนหรือไม่ ทำให้ประชาชนประทับใจ ถึงแก่นประชาชนหรือไม่ รองลงมาคือตัวบุคคล ผู้ลงสมัครส.ส. และไปสังกัดพรรคที่เราถูกใจหรือไม่

ความเป็นสถาบันอาจใช้ไม่ได้กับการเมืองไทย สิ่งที่ใช้ได้คือผลงานของพรรคนั้นๆ และตัวผู้สมัครที่ไป ผูกติดกับพรรคเป็นเนื้ออันเดียวกันหรือไม่ ถ้าพรรคนี้ประชาชนชอบ และได้ผู้สมัครที่ชาวบ้านในพื้นที่รักก็จะไปด้วยกันได้ ตรงนี้เป็นปัจจัยหลัก

การสื่อสารที่เปิดกว้างในปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงคะแนนแน่นอน เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ สื่อออนไลน์ต่างๆ ทุกพรรคใช้เป็นกลยุทธ์สื่อตรงถึงประชาชน เช่น พรรคพลังประชารัฐใช้ไลน์ให้ประชาชนเข้าไปเป็นเพื่อนในกลุ่มไลน์

ล่าสุดที่เห็นกับตาคือมีการแจ้งว่าหากต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อพรรคได้เลย ถือเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงมวลชนที่สำคัญ พรรคไหนไม่ทำ ไม่ใช้จะตกยุคทันที

เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้จะสนุกมาก แต่ละพรรคจะทำอย่างไรเพื่อดึงผู้สมัครเกรดดีแต่ละเขต มาอยู่ด้วย การทุ่มสรรพกำลังหรือใช้เงินก็จะหนักมากขึ้น บรรยากาศการเมืองก็จะคึกคักมาก น่าสนใจมาก

จะเห็นส.ส.ย้ายพรรคกันมากขึ้น ชาวบ้านจะได้เห็นภาพการเมืองไทยชัดเจนมากขึ้น ได้ดูส.ส.ในเขตตัวเอง คนไหนมีอุดมการณ์ หรือเลือกอยู่ในพรรคที่ยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์อย่างแท้จริง จะสนุกมาก อย่ากะพริบตา

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

สำหรับการเลือกตั้งสูตรหาร 100 เป็นส่วนสำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด การเลือกตั้งยังมีปัจจัยเงื่อนไขอีกหลายอย่าง เช่น ฐานเสียงในพื้นที่ เครือข่ายทางคะแนนเสียงหรือที่เรียกว่าระบบหัวคะแนน รวมถึงบริบททางการเมืองแบบระยะสั้นระยะยาว

สูตรหาร 100 อาจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของปัจจัย เลือกตั้ง โดยเฉพาะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งโอกาสจะเป็นของพรรคขนาดใหญ่มากกว่าพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดจิ๋ว พรรคเล็กโดยเฉพาะพรรคจิ๋วเชื่อว่า สูญพันธุ์แน่ พรรคขนาดกลางไม่น่าจะได้อะไรมากนัก แต่ที่ชัดคือพรรคใหญ่ได้เปรียบแน่นอน

เลือกตั้งหน้าเป็นระบบบัตรสองใบ มีระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ใช้หลักการเสียงข้างมากเป็นผู้ชนะ อีกระบบเป็นเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือแบบบัญชีรายชื่อ ใช้เขตประเทศทั้งหมด พรรคใหญ่ก็จะกระจายอยู่ทั่วประเทศทำให้ได้คะแนนมาก ต่างจากพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็ก

ถ้าดูตัวเลขในการเลือกตั้งปี 2562 จะเห็นได้เลยว่าคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด ถ้าจะได้ส.ส. 1 คน ต้องได้คะแนนประมาณ 350,000 คะแนน โอกาสที่พรรคขนาดเล็ก ขนาดจิ๋วจะได้คะแนนมากเท่านั้นเป็นเรื่องยากมาก ส่วนพรรคขนาดกลางอาจพอได้บ้าง

การเลือกตั้งแบบนี้จะไปตรงกับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้เขตประเทศทั้งหมดคำนวณ จะต่างจากในการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งระบบเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อตอนนั้น แบ่งเป็นโซนต่างๆ ทั่วประเทศ

ส่วนตัวชี้วัดจริงๆ ของการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นเรื่องของนโยบายอาจมีผลไม่มาก เพราะการตัดสินใจจะอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า แม่เหล็ก เช่น หน้าตาของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ผู้คนรู้จักกันดี ก็ถือเป็นแม่เหล็กชั้นดี ดึงคนให้มาเลือกได้

หรือหน้าตาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นๆ เสนอเป็นที่รู้จักของสังคมมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือก ส่วนเรื่องนโยบายและอุดมการณ์เป็นเรื่องรองลงมา ถือว่าเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจได้ และปัจจัยสุดท้ายคงเป็นเรื่องบริบทของการเมืองไทยที่อาจมีการเลือกต่างขั้วกันไป

การสื่อสารในการเลือกตั้งปัจจุบันมีความสำคัญมากๆ เพราะเลือกตั้งมีปัจจัยระยะสั้นกับยาว ซึ่งระยะยาวเป็นเรื่องของผลงาน ประวัติที่ผ่านมาของบุคคลเหล่านั้น ส่วนปัจจัยระยะสั้นถือเป็นความฉาบฉวย อาจใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง

ปัจจัยระยะสั้นมีความสำคัญมาก การสื่อสารในปัจจุบัน สังคมออนไลน์เข้าถึงคนได้เร็วและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ปัจจัยระยะสั้นสามารถทำให้เกิดการปั่นกระแสในโลกโซเชี่ยลมีเดียได้ ทำให้ผู้ใช้สื่อใหม่ๆ เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญมีโอกาสได้คะแนนเสียง และต้องไม่ลืมว่าการเลือกหรือตัดสินใจในระยะสั้นนี้มีจำนวนมากพอสมควร

ให้น้ำหนักการเลือกด้วยปัจจัยระยะสั้นกับการตั้งใจเลือกเป็น 50 ต่อ 50 เลยก็ว่าได้ เพราะการเลือกระยะสั้นเป็น การเลือกโดยไม่ต้องคิดอะไรมากนัก เป็นเรื่องความชอบ อารมณ์ ความรู้สึกในการลงคะแนน แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งที่เลือกเพราะติดตามข้อมูลข่าวสารมายาวนาน หรือเรียกว่าคอการเมือง ดังนั้นสื่อโซเชี่ยลมีผลสูงพอสมควรกับการเลือกตั้งครั้งหน้า

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

สูตรคำนวณ ส.ส.หารด้วย 100 เป็นสูตรที่สร้างการเรียนรู้ทางการเมืองให้ประชาชนได้ดีกว่าหาร 500 อีกทั้งเคยใช้มาแล้ว ประชาชนรู้ว่าเลือก ส.ส.เขตคือเลือกคนที่รัก เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คือเลือกพรรคที่ชอบ สะท้อนวัฒนธรรมการเมืองไทยค่อนข้างดี

สูตรหาร 100 ทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบแน่นอน ดูจากสถานการณ์ตอนนี้มีเพียงพรรคเดียวที่ได้เปรียบสูงสุด คือเพื่อไทย ซึ่งเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน พยายามทำนโยบายที่สร้างความว้าวเพื่อให้เกิดการแลนด์สไลด์

ขณะที่ ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทยก็หาคนที่มีต้นทุนทางสังคม หรือมีชื่อเสียง หรือนักการเมืองประจำจังหวัด เพื่อหวังผลให้ได้ทั้งสองระบบให้มากที่สุด

ส่วนพรรคที่พอจะปรับตัวอยู่ได้คือพรรคก้าวไกล หลายคนประเมินว่าก้าวไกลอาจเสียเปรียบเรื่อง ส.ส.เขต แต่หากเขาทุ่มทรัพยากรทั้งหมดกำหนดนโยบาย และนโยบายที่นำเสนอออกมาเป็นภาพรวมที่น่าสนใจ

หากต้องการใช้โอกาสจากการหาร 100 ต้องทำนโยบายให้กลายเป็นสินค้า ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย นอกเหนือจากนโยบายระดับมหภาคแล้ว ต้องทำนโยบายเชิงภูมิภาคด้วย รวมทั้งทำนโยบายเจาะกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ผู้หญิง เด็ก คนพิการ กลุ่มเพศสภาพ ผู้ใช้แรงงาน แบบนี้อาจทำให้ประชาชนเลือกก้าวไกล ทำให้เขามีพื้นที่ทางการเมือง

ส่วนพรรคภูมิใจไทยน่าจะให้น้ำหนักไปที่ ส.ส.เขตซึ่งจะได้เปรียบจุดนี้เพราะสามารถดึงกลุ่มบ้านใหญ่ กลุ่มนักการเมืองประจำจังหวัด พรรคนี้ยังเป็นเซฟโซนสำหรับนักการเมือง คือไม่ได้อยู่ขั้วขัดแย้งที่ชัดเจน

เพราะธรรมชาติการเมืองไทยเวลาใครจะตัดสินใจเลือกเข้าพรรคไหน จะเลือกไปอยู่พรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลหน้าไม่ว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะขาดพรรคภูมิใจไทยไม่ได้

แต่ประมาทพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปไม่ได้ แม้หลายคนบอกว่าลุงตู่ลุงป้อมน่าจะเกม แต่ก็ไม่แน่ ด้วยองคาพยพและความได้เปรียบทั้งหมด อย่าลืมว่า 250 ส.ว.ยังอยู่

และแม้ดูเหมือนขัดแย้ง แต่อาจเป็นลับลวงพราง แยกกันเดินรวมกันตี หากพลังประชารัฐได้ส.ส.น้อย ก็เชื่อว่ารวมไทยสร้างชาติอาจได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 30 คน แล้วไปแตะมือกับภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หน้าตาของรัฐบาลจะออกมาเป็นแบบนี้ เพราะยังมี ส.ว.ยกมือโหวตเลือกนายกฯให้

นอกเหนือจากการหาร 100 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ชนะเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับนโยบายและตัวบุคคลซึ่งคู่ขนาน กันไป พรรคต้องมีนโยบายที่โดนใจประชาชน เป็นนโยบายระดับมหภาคและแยกย่อยลงไป

และการเมืองไทยไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์ส่วนตัวได้ โดยเฉพาะนักเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีต้นทุนทางสังคม หากพรรคไหนยึดกุมหรือควบรวมกลุ่มบ้านใหญ่ให้ได้มากที่สุด ก็จะมีโอกาสชนะแบบเขต

ขณะเดียวกัน หากทำนโยบายให้ครอบคลุมหลากหลาย ทำให้คนเห็นว่าเป็นนโยบายตอบโจทย์ปัญหาสาธารณะ ตอบโจทย์ปัญหาชีวิต ก็จะชนะได้ เมื่อดูโอกาสแล้วเพื่อไทยมีโอกาสจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน