นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ภาษีขายหุ้น โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่ พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีระยะเวลาผ่อนปรน 90 วัน โดยตอนนี้เดินหน้ากฎหมายตามขั้นตอน ที่ตอนนี้ได้เสนอ ร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ และรอการโปรดเกล้าฯ เพื่อลงในประกาศ ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไทม์ไลน์การเก็บภาษีเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายระบุไว้ทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง

“กรมสรรพากรคาดว่า ร่างกฎหมายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้ในเดือนม.ค.2566 และเริ่มเก็บวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดไป ก็น่าจะเป็นวันที่ 1 พ.ค.2566 การมีช่วงเวลาไม่เก็บทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะต้องการให้โบรกเกอร์มีเวลาเตรียมระบบในการซื้อขายและการหักภาษี เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร”

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวได้ใน ไม่ช้า ไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่นักลงทุนกังวลมากเกินไป สำหรับการเก็บภาษีขายหุ้น มีการยกเว้นการจัดเก็บมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยแบ่งการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเป็น 2 ช่วง ในอัตราดังนี้ ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% หรือ 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ยังคงการยกเว้นภาษีให้กับ 1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น 2.สำนักงานประกันสังคม 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ 8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นเพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

ทั้งนี้คาดว่าในปีแรกรัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท และเมื่อเก็บภาษีเต็มอัตราในปีถัดไปจะมีรายได้ 16,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน