อายุสภาเหลือเวลาอีกกว่า 3 เดือนเท่านั้น ขณะที่ ส.ส.เริ่มนับเวลาถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งแล้ว

ทำให้บรรดางูเห่าจากพรรคต่างๆ ทยอยลาออกเพื่อไปเปิดตัวกับสังกัดใหม่

การแห่ลาออกของส.ส.จำนวนมาก จะส่งผล กระทบอะไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภา

และมีส่วนกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้รีบยุบสภาหรือไม่

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การที่ ส.ส.แห่ลาออกในปัจจุบันก็คงมีเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาตามมา เพราะคนมองดูว่าสภาขณะนี้คล้ายกับว่าไม่มีโอกาสจะได้ทำงาน เพราะขนาดมีจำนวน ส.ส.อยู่เกือบเต็มสภา ยังไม่ได้ลาออก ก็ยังขาดประชุมสภากันอยู่ตลอดเวลา

ที่ส.ส.ลาออกก็เพราะหัวใจของคนเป็นส.ส.ไปอยู่ที่ การหาเสียงเลือกตั้งกันหมดแล้ว จึงคาดว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ

แต่สิ่งสำคัญคือท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ทุกคนก็รู้ว่านายกฯเป็นคนที่ไม่เลื่อมใสในสภาอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาอาจปล่อย โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ส.ส.จะลาออกก็ให้ออกไป จะไปห้ามทำไม ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ต้องเลือกตั้งซ่อม ดังนั้น ส.ส.จะเหลืออยู่ในสภาเท่าไรก็เท่านั้น

แล้วที่ ส.ส.แห่ลาออกจะกระทบต่อการพิจารณากฎหมายหรือไม่ ก็ดูว่าทุกวันนี้สภาล่มกระทบหรือเปล่า ถ้าบอกว่ากระทบก็คิดได้ แต่ถ้าคิดว่าการลาออกของส.ส.เหล่านี้ไม่กระทบ ก็ไม่เป็นไร

แต่ปัญหาคือตอนนี้ต้องยอมรับว่าบรรดาพรรค การเมืองต่างปัดแข้งปัดขากันเอง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้นโอกาสที่ ส.ส.จะมีผลงานผ่านสภาจึงน้อยมาก วันนี้สิ่งที่นักการเมืองกลัวมีเพียงว่านโยบายหาเสียงของพรรคไหนจะไปได้ กลัวคนอื่นจะได้เสียงมากกว่า เป็นการกลัวพรรคอื่น เมื่อเราไม่ได้ คุณก็อย่าได้

ส่วนการยุบสภาจากที่มองกันว่าอาจลากยาวไปใกล้สภาหมดวาระ แต่เมื่อ ส.ส.แห่ลาออกจะกดดันนายกฯให้ต้องรีบยุบสภาหรือไม่นั้น ยังคิดว่านายกฯ อาจลากยาวต่อไป เพราะเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาไม่ได้มาจากนายกฯ

และหากยุบสภาตอนนี้คิดว่าพรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมไทยสร้างชาติยังไม่พร้อม เพราะเกิดปัญหาภายในทุกคนก็เห็น ยิ่งวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ทุ่ม เต็มตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังนั้น ก็คงไม่เกิดปัญหาเรื่องจระเข้ขวางคลอง

หมายถึงบางคนมีแต่ชื่อไม่มีเสียง แต่ก็หวังจะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลยขวางคนอื่นไว้บนตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรค คนที่คิดจะเข้ามาแต่เมื่อดูแล้วว่าไม่มีโอกาสก็ ไม่เข้าเพราะมีจระเข้ขวางคลองอยู่ คนที่เป็นอยู่วันนี้ก็นั่งกระหยิ่มเชื่อว่าพอมีคนเข้ามาจะยกให้ตัวเองได้เป็น เลยยังยึดตำแหน่ง ตอนก่อตั้งพรรคเป็นอย่างนี้ วันนี้ก็ต้องเป็นต่อไป

แต่ในความเป็นจริงคือต้องการจะอาศัยบารมีของ นายกฯ เพื่อให้คนอื่นเข้ามาสนับสนุนตัวเองเท่านั้น ก็น่าจะเห็นชัดเจนกันอยู่แล้วว่าคนที่เป็นนักการเมืองอาชีพ กับคนที่เป็นนักการเมืองแบบเฉพาะกิจ ที่คิดว่าพร้อมจะสู้ตายและคิดว่าสำเร็จแล้วเป็นอย่างไร

สำหรับพรรคภูมิใจไทยที่ดูดส.ส.เข้าไปมากจะได้เป็น แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พรรคภูมิใจไทยมีความพร้อมในการเดินหน้าก่อนคนอื่น เพราะในขณะที่นักการเมืองคนอื่นหรือพรรคอื่นมานั่งเช็กว่ามีใครออกจากพรรคบ้าง แต่พรรคภูมิใจไทยขณะนี้เริ่มวางตัวเด็ดขาดแล้ว เพราะฉะนั้นถือว่าวันนี้ภูมิใจไทยพร้อมมากกว่าคนอื่น

ส่วนการแบ่งฝ่ายของนักการเมืองหลังเลือกตั้ง ต้องรอเวลาที่จะลงตัวก่อน เพราะการเมืองบางทีสัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนแปลงแล้ว การเมืองปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วจากปัจจัยหลายๆ อย่าง

ส่วนเรื่องกฎหมายลูกแม้วันนี้ยังคงค้างอยู่แต่ก็ผ่านขั้นตอนที่ต้องการไปแล้ว ฉะนั้นก็อยู่ในขั้นตอนที่นายกฯ ถืออยู่ อีกทั้งต้องรอขั้นตอนที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะใช้เวลาเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะมี ทางตันอะไรที่ไหน

แต่ถ้าจะคิดว่าอาจถึงทางตันก็เป็นไปได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วทุกอย่างยังไปได้อยู่ เพราะขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากสภาผ่านไปแล้ว

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

เมื่อใกล้ครบวาระของสภาในอีก 2-3 เดือน ถ้าเป็นส.ส.ที่ยังอยู่กับพรรคเดิมก็ไม่มีปัญหา ประเด็นคือ ส.ส.ที่จะย้ายพรรค เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าต้องสังกัดพรรคไม่เกิน 90 วัน ทำให้ส.ส.ต้องรีบขยับและปรับตัวเพราะไม่รู้ใจของนายกฯ จะยุบสภาก่อนหรืออยู่จนครบวาระ

ถ้าอยู่จนครบวาระ กกต.บอกแล้วว่าเลือกตั้งเดือนพ.ค. 2566 แต่ถ้ายุบสภาก่อนก็จะไม่มีเวลาเตรียมตัว ดังนั้นถ้าจะเพลย์เซฟต้องขยับขยายก่อนสิ้นปี คือช่วงเวลานี้ต้องจัดการให้เรียบร้อย ถ้าหลังจากสิ้นปีแล้วเกิดอุบัติเหตุจะยุบสภาเมื่อไร ไม่มีใครรู้

เวลานี้แบ่ง ส.ส.ได้ 2 พวก คือพวกที่มั่นคงอยู่แล้ว ซึ่งมีเป็นส่วนใหญ่จึงไม่กระทบการทำงานในสภา เพราะสามารถประชุมได้ โดยองค์ประชุมที่เหลืออยู่มีเท่าไรก็ให้นับกึ่งหนึ่งจากนั้นสภาก็ยังไปต่อได้ แต่ประชาชนอาจรู้สึกว่า ส.ส.ไม่รับผิดชอบ สรุปได้ง่ายคือคนที่ลาออกเวลานี้คือคนที่ย้ายพรรค

ความกังวลว่าส.ส.แห่ลาออกแล้วจะกระทบการพิจารณากฎหมายสำคัญของสภา ซึ่งมองว่าไม่กระทบ เพราะเวลาพิจารณาจะใช้เสียงครึ่งหนึ่งจากส.ส.ทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้แล้ว ถ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งกฎหมายก็ผ่านไปได้ ไม่มีปัญหา

แม้แต่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กันชง ที่พูดถึงอยู่ในเวลานี้ถ้ามีเสียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ สามารถเปิดประชุมได้ เวลาลงคะแนนถ้าเกินกว่ากึ่งหนึ่งก็ไปได้ จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อการพิจารณากฎหมาย

ถามว่าการลาออกของส.ส.จะมีส่วนกดดันให้นายกฯ ต้องยุบสภาเร็วขึ้นหรือไม่ ก็คิดว่าไม่มีผล สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเขาวางรูปแบบอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นปีนี้ กระทั่งหลังการประชุมเอเปค การลาออกของส.ส.ถึงไม่มีผลต่อการกดดัน ไม่มีประโยชน์

และส.ส.จะออกหรือไม่ออกสภาก็ไปไกลเกินกว่า 24 มี.ค.2566 ไม่ได้ อายุสภาเหลืออีกแค่ 3 เดือน การลาออกของส.ส. จึงไม่มีส่วนไปกดดันนายกฯ มากไปกว่าข้อจำกัดเรื่องการสังกัดพรรค 90 วัน ของส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคใหม่ให้ทันตามเวลาที่กฎหมายอนุญาต

ถ้ายุบสภาเวลานี้ฝ่ายค้านอาจไม่มีปัญหา แต่พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจยังไม่มีความพร้อม เขายังแต่งตัวไม่เสร็จ ยังมีคนที่จะเข้ามาเพิ่ม หรือยังดูดเข้ามา หรือถูกดูดกลับ จึงต้องดูเรื่องของเวลาเป็นตัวตั้ง

ประเด็นหลักที่จะยุบสภาไม่ใช่เรื่องของส.ส.ลาออก แต่เป็นความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงการรอให้กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ และนายกฯพร้อมและได้เปรียบสำหรับการเลือกตั้ง เขาต้องดูความพร้อมของพรรคที่จะไปสังกัด และกลุ่มก้อนที่อยู่กับตัวเองเป็นหลัก

ส่วนที่วิเคราะห์กันว่าถ้ากฎหมายลูกมีผลบังคับใช้แล้ว นายกฯ จะยุบสภา ก็มีความเป็นไปได้สูง หรือจะอยู่ครบวาระก็มีความเป็นไปได้ และคงไม่ยุบก่อนที่กฎหมายลูกจะเสร็จ เพราะการจะออกพระราชกำหนดเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เงื่อนไขสำคัญคือต้องดูกฎหมายลูกให้เสร็จก่อน

วันวิชิต บุญโปร่ง

คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

กรณีส.ส.แห่ลาออก คิดว่ามีผลกระทบอย่างมาก ต่อการประชุมสภา เพราะขนาดที่ยังไม่มีส.ส.ลาออก การประคับประคองการประชุมให้ผ่านไปได้วันต่อวันก็ถือว่าเก่งแล้ว การที่สภาล่มหลายครั้งทั้งจากการประชุม หรือจากการลงพื้นที่ของส.ส. ก็เห็นกันมาต่อเนื่องไม่ใช่เพิ่งเห็น

เป็นสัญญาณที่ส่งมาหลายเดือนแล้วว่านักการเมืองเตรียมความพร้อมเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปีหน้า แนวโน้มที่สภาจะล่มนับจากนี้จะถี่ขึ้นจนรู้สึกเป็นเรื่องที่ปกติไป ปัญหาเด่นชัดที่สุดหากสภาล่มคือ กฎหมายที่ค้างอยู่หลายๆ เรื่อง กฎหมายอาจชะลอหรือไปนับหนึ่งใหม่ การผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ก็ล่าช้าออกไป สูญเสียทั้งเวลาและโอกาส ประชาชนสูญเสียประโยชน์

ส.ส.ส่วนใหญ่ที่ออกเป็นฝั่งรัฐบาล นอกจากเรื่ององค์ประชุม เสียงในสภา การผ่านกฎหมายหรือโหวตลงมติต่างๆ จะมีเรื่องความสง่างาม อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่จะนำไปสู่การแข่งขัน มีการชิงไหวชิงพริบในการเลือกตั้ง อย่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สภาไม่ล่ม เพราะอาจมีการระดมส.ส.เข้าร่วมประชุม ดังนั้นคงดูบางกฎหมาย บางมาตรา หรือบางกรณีจริงๆ ที่จะเข้าประชุมหรือให้ความร่วมมือหรือไม่

สำหรับการยุบสภาที่เดิมทีคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาช่วง ม.ค.-ก.พ. หรืออยู่ครบเทอม แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผันการยุบสภาอาจต้องเร็วกว่านั้น เพราะสภาล่มบ่อย โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความสำคัญแต่สภาล่ม ก็จะเกิดเสียงเรียกร้องความชอบธรรมให้เกิดการยุบสภา

และยิ่งส.ส.ไม่ได้ไหลไปอยู่กับพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เท่าไร ทำให้เห็นว่านักการเมืองพร้อมจับขั้วใหม่ หรือหันหลังให้เครือข่าย 3 ป. การที่นักการเมืองหลายคนไหลไปพรรคภูมิใจไทย แทนที่จะไปพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ อย่างตรงไปตรงมา จากนี้การอยู่ในตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับถอยหลัง การที่ส.ส.ลาออก จึงเป็นแรงกดดันทางหนึ่งให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภา

และหากยุบสภาฝ่ายค้านไม่มีปัญหา และทุกพรรคดูพร้อมมานานแล้ว เรื่องการเตรียมบุคคลไม่ว่าจะเป็นส.ส.เขต หรือปาร์ตี้ลิสต์ ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยังไม่พร้อม

พลังประชารัฐมีปัญหาเรื่องเลือดไหลไม่หยุด และไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไร ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็กำลังรอตัวเลขส.ส.ให้สะเด็ดน้ำให้ถึงที่สุดว่าจะมีส.ส.เขตหรือใครที่ย้ายมาร่วมงานด้วยกี่คน

ประกอบกับปัญหาธุรการในพรรค เช่น องค์ประกอบของทีมยุทธศาสตร์ทำนโยบายพรรค หรือ กก.บห.พรรคที่อยู่ในชุดก่อตั้ง กับกลุ่มมาทีหลังอาจยังมีปัญหาไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สามารถเข้าพรรคได้ ยิ่งทอดเวลาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของทั้ง 2 พรรคอยู่ในภาวะที่ เสียเปรียบมาก

ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่มีส.ส.จำนวนมากไหลเข้า คนที่ย้ายมาจากพรรคเดิมอาจไม่ได้ลงแข่งในระบบเขตในพื้นที่เดิมของตนเอง หรือถูกผลักดันไปลงปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่รู้สึกว่าจะไม่ได้รับเลือก พรรคภูมิใจไทยจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน