“สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล” เป็นภารกิจเป้าหมายที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กำหนดให้กระทรวงคมนาคมนำไปใช้เป็นคีย์เวิร์ดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

โดย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวระหว่างบรรยายแผนงานของกระทรวงปี 2566 ให้เครือมติชนระบุว่าเพื่อให้บรรลุตามภารกิจ 4 มิติ กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งดำเนินการ 2 เรื่องหลักคือแก้ไขปัญหาพื้นฐาน และพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน

ปัญหาพื้นฐานเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาการจราจรติดขัด และความไม่ปลอดภัยในโครงข่ายขนส่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างออกกฎระเบียบ เพื่อนำใช้ในการกำกับความปลอดภัยในระบบขนส่งทุกประเภท เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบขนส่ง

ด้านการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง วางเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทาง บก น้ำ ราง และอากาศ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการเชื่อมต่อการเดินทางที่ครอบคลุม เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่มได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ สะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคการค้า และลงทุนด้วย

โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาการขนส่งระบบรางมากที่สุด ทั้งในเมือง และระหว่างเมือง เนื่องจากเป็นระบบที่ เดินทางได้สะดวก ตรงเวลาไม่มีปัญหารถติด และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ เพราะเป็นระบบที่มีต้นทุนค่าขนส่งถูกที่สุด 0.7 บาท/ตัน/ก.ม. การขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุกในปัจจุบันมีต้นทุนสูงถึง 1.38 บาท/ตัน/ก.ม.

ระบบทางในเมืองจะเดินหน้าพัฒนารถไฟฟ้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 14 สี 27 เส้นทาง รวมระยะทาง 554 ก.ม. ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง รวมระยะทาง 212 ก.ม. ตั้งเป้าที่จะทำให้การพัฒนาระบบรางในเมือง แล้วเสร็จ 80% ภายในปี 2572

ระบบรางระหว่างเมือง เร่งพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ทางคู่ระยะ 2 (2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง อาทิ ปากน้ำโพ-เด่นชัย เด่นชัย-เชียงใหม่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์,

ทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม รวมทั้งพัฒนาทางคู่ในระยะถัดไปอีก 12 เส้นทาง คือ ทับปุด-กระบี่ ศรีราชา-ระยอง ชุมพร-ระนอง มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด

สําหรับในปี 2566 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมที่ยั่งยืน รวมจำนวน 197 โครงการ วงเงินลงทุน รวม 96,705 ล้านบาท แบ่งออกเป็นโครงการลงทุนทาง ถนน 35 โครงการ แบ่งออกเป็นโครงการต่อเนื่อง 23 โครงการ และโครงการใหม่ 12 โครงการ วงเงินลงทุน 13,400 ล้านบาท, ทางบก 22 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ โครงการใหม่ 2 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 426 ล้านบาท

ทางราง 42 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 38 โครงการ โครงการใหม่ 4 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 79,512 ล้านบาท, ทางน้ำ 61 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 53 โครงการ และโครงการใหม่ 8 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 1,538 ล้านบาท

และทางอากาศ 37 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 13 โครงการ และโครงการใหม่ 24 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 1,793 ล้านบาท

โครงการที่จะผลักดันในปี 2566 อาทิ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 และ 6

ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ระยะที่ 2, ศูนย์เปลี่ยนถ่าย สินค้านครพนม, ทางด่วน กะทู้-ป่าตอง / เมืองใหม่-เกาะแก้ว-กระทู้ / งามวงศ์วาน-พระราม 9, รถไฟทางคู่ ระยะแรกที่เหลือ 3 เส้นทาง และทางสายใหม่ 2 เส้นทาง / รถไฟทางคู่ระยะที่ 2

ในปีหน้ากระทรวงคมนาคมซึ่งได้รับจัดสรรงบลงทุนภาครัฐก้อนใหญ่ที่สุด คงจะต้องเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน