เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของส.ส.ในพื้นที่กทม. เตรียมตัวย้ายพรรคกันจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะจะย้ายออกจากสังกัดพรรคหลักของรัฐบาล ประเด็นสำคัญคือ กระแสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลนั้น ตกต่ำลงไปอย่างมากสำหรับชาวเมืองหลวง

ย้อนดูได้จาก ปรากฏการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างถล่มทลาย กว่า 1.3 ล้านเสียง

เป็นการเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ชี้วัดอยู่แล้วว่าคนกทม.ต้องการการเปลี่ยนแปลง

แถมปฏิเสธผู้สมัครในสายนายกฯ สายรัฐบาล และ สายกปปส. อย่างหนักหน่วง มีตัวเลขคะแนนที่ได้รับเป็นเครื่องบ่งบอก

ตั้งแต่เมื่อเห็นผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล น่าจะตัดสินใจอะไรได้ทันที!

อันที่จริง ความหมายของวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ 22 พฤษภาคม มีส่วนตอกย้ำคนเมืองหลวงจำนวนไม่น้อย ให้นึกถึงเหตุการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์ ก่อรัฐประหาร

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีจุดตั้งต้นมาจากการชุมนุมของกปปส.

แถมเป็นการชุมนุมที่ไม่ยอมเลือกทางออกแนวทางประชาธิปไตย คือ ไม่รับการยุบสภา ไม่ยอมให้เลือกตั้งใหม่

ทั้งที่การยุบสภาคือการคืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจใหม่

กลับไม่ยอมให้คืนอำนาจต่อประชาชน เลือกจะให้เอาอำนาจไปให้ทหารแทน!

8 ปีที่ผ่านมา พิษภัยจากการรัฐประหาร ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ใช่นักบริหารประเทศที่เก่งกาจสายตากว้างไกล

ผลกระทบด้านปากท้องจากเศรษฐกิจที่ทรุดต่ำ เพราะไม่มีมือเศรษฐกิจที่คิดทันโลก

เชื่อว่าประชาชนจำนวนมาก เข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า การเมืองไม่ดี ไม่มีประชาธิปไตย เศรษฐกิจย่อมไม่ดีตามไปด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงเป็นเสียงสะท้อนว่า ประชาชนไม่เอาแนวทางที่ล้าหลังแบบเดิมอีกแล้ว

ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นสนามเลือกตั้งส.ส.ในกรุงเทพฯ น่าจะมีแนวโน้มไม่ต่างจากตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ทั้งคงไม่แค่ชาวกรุงเท่านั้น กระแสทำนองเดียวกันนี้คงลุกลามไปทั่ว วัดได้จากอารมณ์ความรู้สึกของคนหลายๆ จังหวัด ที่ยินดีกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถเลือกผู้ว่าฯ ในฝันได้

ผลสะเทือนจากม็อบและการรัฐประหารปี 2557

จะนำมาสู่ความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่

เข็ดขยาดและไม่เอาเด็ดขาดกับพรรคที่เป็นขบวนการสมคบคิดฉุดประเทศล้าหลัง!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน