ความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้สถานการณ์ที่เคยขมุกขมัวมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่งผลต่อการตัดสินใจของกลุ่ม ก๊วน และส.ส.ที่จะเลือกสังกัด

การเมืองหลังเปิดศักราชใหม่จึงน่าจับตา

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

ปี 2566 น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะจะครบวาระของสภาชุดนี้แล้ว และโอกาสที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งจะเข้มข้นขึ้นทั้งการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ถึงอย่างไรขั้วการเมืองก็ไม่เปลี่ยนเพราะตัวกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 และกลไกในการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 ยังคงอยู่ โครงสร้างอำนาจยัง เหมือนเดิมยังอยู่กับกลุ่ม 3 ป. เพียงแต่ว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมและกำกับ ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้า เช่น การเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ย้ายพรรค หรือเปลี่ยนรัฐมนตรี หรือฝ่ายค้านอาจจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมบ้าง

ส่วนภาพรวมการทำงานของสภา ต้องใช้คำว่าการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลังมายาวนานแล้ว เพราะระบบรัฐสภาไทยขาดประสิทธิผลตอบโจทย์หรือตอบสนองเจตจำนงประชาชน ยิ่งมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน เช่น การให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหามามีอำนาจถ่วงดุลกับสภาผู้แทนฯ หลายๆ เรื่อง

ขณะเดียวกัน ส.ส.ก็ถูกตั้งคำถามกรณีสภาล่ม เพราะสภาชุดนี้ล่มกว่า 30 ครั้ง ก็เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้เกิดพรรคจำนวนมาก เกิดปัญหารัฐบาลผสม ถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไขก็จะเป็นภาวะเช่นนี้อีกในปีหน้า

การคาดหวังให้ ส.ส.เข้าประชุมสภาคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่แค่ปัญหาจริยธรรมส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ เพราะกติกาเปลี่ยน มีการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบแบบคู่ขนาน ส.ส.ก็จะหนีตาย โดยเฉพาะพรรคเล็ก พรรคจิ๋ว แล้วยังมีส.ส.ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่

อีกประเด็นคือภูมิทัศน์การเมืองของคนเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ไม่ใช่การเมืองเชิงนโยบายเหมือน 20 ปีที่แล้ว และไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่กินได้อีกแล้ว แต่เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ เชิงอัตลักษณ์ ฉะนั้นการเลือกตั้งในปีหน้าจะยังคงอยู่กับการดีเบต ข้อถกเถียง เช่น การ ถามกันว่าจะเอาหรือไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จะเอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการ จะเอาเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม สะท้อนถึงการเมืองเชิงอุดมการณ์

ด้านพรรคการเมืองต้องยอมรับว่าในสนามเลือกตั้ง ไม่มีคำว่าเกรงใจจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องการแข่งขัน และยิ่งปัจจุบันกติกาเปลี่ยน ภูมิทัศน์ของคนในสังคมเปลี่ยน ทำให้เกิดการย้ายพรรคกันมาก และอาจทำให้ระบบรัฐสภาเสียหายจากปกติเสียหายอยู่แล้ว

ในส่วนฝ่ายค้านคงใกล้เคียงแบบเดิม พรรคเพื่อไทยมีโอกาสมาเป็นที่หนึ่ง ขณะที่พรรคก้าวไกลถ้าได้เสมอตัวก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ก็ต้องต่อสู้กับอีกหลายพรรค และวันนี้ ไม่ได้มีกระแสนายธนาธร เหมือนปี 62 และอย่าลืมว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องฝ่าด้านให้ได้คือ ส.ว. 250 เสียง และเรื่องที่จะถูกยุบพรรคต่างๆ ตามมา

การแบ่งฝ่ายของ ส.ว. เป็นสายพล.อ.ประวิตร พล.อ. ประยุทธ์ เป็นยุทธศาสตร์ของ 3 ป. ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ ส.ว.ก็พร้อมสนับสนุน ใครก็ได้ของ 3 ป.

ส่วนการยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน เป็นเพียงการใช้สิทธิของฝ่ายค้านตามต่อประเด็นที่ตั้งไว้ ไม่มีผลอะไรอยู่แล้วกับกับฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะเป็นช่วงท้ายของสภา ความสนใจก็อาจลดน้อยลง

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานกก.บห.สถาบันปรีดี พนมยงค์

การเมืองไทยน่าจะกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามลำดับ การเมืองร้อนแรงอย่างไรไม่มีปัญหาหากนำไปสู่ประโยชน์ของสาธารณชน จะเข้มข้นร้อนแรงก็เป็นเรื่องดี ไม่ต้องวิตกกังวล

นักเลือกตั้งมักหวังว่าทำอย่างไรให้ได้กลับมาเป็นส.ส. ทำอย่างไรจะได้ร่วมรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่เห็นการลาออกของ ส.ส.เพื่อย้ายพรรค ส่วนหนึ่งอาจตั้งใจให้เกิดแรงกดดันไปสู่การยุบสภา

พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะมีการแข่งขันกันหนักขึ้น ช่วงชิงผลงานกันเพื่อให้ประชาชนพอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชนอยู่แล้ว นี่คือข้อดีของระบอบประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน แต่ต้องมีมารยาท มีกฎกติกา และมีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช้วิธีแทงข้างหลังหรือทรยศเพื่อนร่วมรัฐบาล

พรรคเล็กที่เสียเปรียบจากสูตรหาร 100 ก็จำเป็นต้องควบรวม อาจได้ส.ส.หากมีบุคลากรที่โดดเด่นมากๆ แต่เสียงอาจไม่มากพอที่จะเสนอชื่อนายกฯ หรือเสนอกฎหมาย

หลายเรื่องคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่แน่นอนก็คือพรรคใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อาจเป็นขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน หรือขั้วรัฐบาลปัจจุบัน หรือเกิดสูตรการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีทั้งพรรคจากขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นรัฐบาลผสม 2 ฝ่ายก็ได้ เป็นไปได้หมด

สำหรับ ส.ว.สายพล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ จะแบ่งขั้วกันชัดเจนมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่ว่าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร จะพลิกขั้วมาอยู่กับฝั่งเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากพลิกขั้ว พล.อ.ประวิตรมีโอกาสเป็นนายกฯ และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของพล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เสียงชี้ขาดจริงๆ คือ ส.ว. 250 รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยด้วย

ในส่วนพรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจไทย พรรคไหนรวบรวมเสียงได้มากพอ บวกเสียง ส.ว.บางส่วนก็มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่ตามหลักการควรให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลก่อนเพราะเป็นฉันทามติจากประชาชน

สำหรับการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล มวลชนของพรรค การเมืองก็สำคัญ กองเชียร์พรรคเพื่อไทยบางส่วนอาจมองพรรคฝ่ายรัฐบาลซึ่งสนับสนุนการรัฐประหารเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง และไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่อยากให้ไปร่วมรัฐบาลกัน แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่พรรคการเมือง ต้องดูสถานการณ์เวลานั้น

พรรคใหญ่ๆ ของไทยวันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทางอุดมการณ์แบบเข้มข้นหรือสุดโต่งอยู่แล้ว รวมกันได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นแนวอนุรักษนิยมขวา เสรีนิยม หรือสังคมนิยมอ่อนๆ เพราะพรรคที่เสนอความคิดสุดขั้วเติบโตยาก

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ของฝ่ายค้านช่วงต้นปี 2566 แม้จะไม่มีการอภิปรายคะแนนนิยมของรัฐบาลก็ตกต่ำอยู่แล้ว ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้สะท้อนว่าไม่มีความคืบหน้าการปฏิรูปในหลายๆ มิติ

ทั้งกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี กรณีทุจริตคอร์รัปชั่นใหญ่ที่ไม่ดำเนินการ แสดงถึงความล้มเหลว ของระบบนิติรัฐ นิติธรรม คดีตู้ห่าวสะท้อนกระบวนการยุติธรรม กรณีเรือรบสุโขทัยจมกลางทะเล จำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพ ยังมีกรณีค่าไฟฟ้าแพง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รัฐศาสตร์ ม.บูรพา

ปี 2566 สถานการณ์การเมืองความเข้มข้นจะไต่ระดับจากปีนี้ไปสู่ทิศทางที่จะมีการเลือกตั้ง การแข่งขันของนัก การเมืองจะเข้มข้นมากขึ้นเพราะเป็นสงครามครั้งสำคัญ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายของกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วและยังมีความพยายามจะไปต่อ ดูจากตัวโครงสร้างรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา พรรคการเมือง ที่เห็นได้ว่าพยายามดิ้นรนในการรักษาอำนาจ

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อจะเปลี่ยนผ่านอำนาจจากผู้ครองอำนาจเดิมมาสู่พลังทางการเมืองกลุ่มใหม่ ที่ต้องการอาศัยการเลือกตั้ง

และเป็นช่วงท้ายรัฐบาลจะเห็นได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลเกรงใจกันน้อยลง เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ทุกฝ่ายจำเป็นต้องช่วงชิงความได้เปรียบ ความเกรงอกเกรงใจกันไม่มีแล้ว อะไรที่มีคุณ มีผลต่อคะแนนเสียงทางการเมืองก็เริ่มที่จะทำเต็มที่ เพราะเป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาล

การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 คงทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ ฝ่ายค้านทำได้เพียงแค่ใช้โอกาส บทบาทหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติทำงานเพื่อหวังผลต่อคะแนนนิยมทางการเมือง เช่น การเปิดอภิปราย ตามมาตรา 152 ก็เพื่อหวังผลต่อคะแนนนิยมของตัวเองและฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แม้แต่กรณีพรรคเพื่อไทยพยายามเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกส.ว. ก็ยากที่จะเป็นผลในทางปฎิบัติ แต่สามารถใช้โอกาสนี้การสื่อสารทางการเมืองเพื่อโยงไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า หวังผลเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ ดิสเครดิต

กรณี ส.ส.ลาออกกันจำนวนมากโดยกฎหมายไม่มีผล แต่จะมีผลก็ต่อเมื่อถ้าลาออกจนทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติลดน้อยถอยลงไปมากก็เป็นปัญหาต่อระบบ แต่ถ้าลาออกแค่นี้ไม่มีผล และอาจมีลาออกเพิ่มอีก เพราะเป็นโค้งสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่ได้มีอะไรที่สำคัญสำหรับจะ ยุบสภา

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเล็กจะมีอยู่ 2 แนวทาง 1. พรรคเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องหายไปจากสนามการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการแก้รัฐธรรมนูญมาใช้บัตรสองใบ และการหาร 100

2. พรรคที่ปรับตัวได้ซึ่งหมายถึงพรรคที่อาจควบรวมกับพรรคเล็กด้วยกัน เพื่อทำให้ตัวเองมีสถานะที่เติบโตขึ้นเป็นพรรคขนาดกลาง หรือเป็นพรรคที่มีโอกาสในการเลือกตั้ง แต่จะมีโอกาสได้นอกจากควบรวมกันแล้ว พรรคเหล่านี้จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางการเมืองที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดได้

ในส่วนส.ว. แน่นอนว่ายังมีบทบาทสูงมากในการกำหนดความเป็นไปของรัฐบาล เพราะเชื่อว่าการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยก็เป็นไปได้ยาก ถ้าเป็นไปได้ พรรคเพื่อไทยก็สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หรือพรรคสายที่เรียกตัวเองว่าพรรคประชาธิปไตยได้เกิน 300 เสียง ก็โอเคสามารถปิดสวิตช์ส.ว.ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ส.ว.จะมีบทบาทมากในการกำหนดรัฐบาล และ ส.ว.ยังอยู่ภายใต้ 3 ป.

การแตกขั้วของส.ว. ส่วนหนึ่ง ต้องตอบแทนบุญคุณที่ได้มาเป็น ส.ว.ด้วยบารมีของพล.อ.ประวิตร อีกส่วนหนึ่งก็จะคล้ายคลึงกันยังอยู่ในปีกของพล.อ.ประยุทธ์ แม้ ส.ว.แบ่งสาย เชื่อว่าทั้งคู่ยังคุยกันอยู่ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ นำพรรครวมไทยสร้างชาติได้เกิน 25 เสียงส.ว.ก็ยังเป็นเอกภาพ

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไม่ถึง 25 เสียง ส.ว.กลุ่มนี้จะเปลี่ยนมาหนุนพล.อ.ประวิตร ทันที จุดนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐหลายคนยังไม่ย้ายออกเพราะรู้ว่าพล.อ.ประวิตร มีสมาชิกที่สำคัญคือ ส.ว.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน