เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี 2565 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดงานเทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) การแสดงแบบผ้าไทยร่วมสมัยและผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2565 บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โอกาสนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ ผู้ชนะในกิจกรรม “มหาดไทย ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการ พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล รวมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเผย พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ผ้าไทย พร้อมกับพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เผยแพร่ความงดงามของหัตถศิลป์ไทย ตลอดจนนิทรรศการหม่อนไหม และนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค จากนั้นทอดพระเนตรโซนออกบูธร้านค้า OTOP Luxury ทั้ง 4 ภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ จำนวน 100 บูธ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้รับเหรียญพระราชทานต่างๆ รวมทั้งร้านค้าของศิลปินโอท็อปที่มี ชื่อเสียง และทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ผลงาน 10 แบรนด์ไทย ดีไซเนอร์ชื่อดังซึ่งรังสรรค์ผลงานสุดประณีตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง โดยนำผ้าไทยมาตัดเย็บเป็นชุดดีไซน์ทันสมัย ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565

สำหรับ 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ร่วมออกแบบครั้งนี้ ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, KAI, TIRAPAN, PICHITA, PISIT, THEATRE, ASAVA, ISSUE, VATIT ITTHI และ WISHARAWISH โดยนำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัย อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับพระปฐมบรมราชโองการจากพระบรม ชนกนาถ ด้วยการน้อมเกล้าฯ สืบสาน รักษา และต่อยอด งานด้านผ้าไทยของสมเด็จ พระพันปีหลวง เพื่อให้พี่น้องคนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทรงน้อมนำสิ่งต่างๆ มาถ่ายทอดให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปีนี้เป็นปีที่ 3 เสด็จไปหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เองครบทุกภูมิภาค เปิดโอกาสให้พี่น้องที่มีภูมิปัญญาเรื่องงานหัตถศิลป์ งานผ้าไทย งานหัตถกรรม เข้าเฝ้ารับเสด็จ แล้วพระราชทานพระวินิจฉัยคำแนะนำในการพัฒนางานที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงริเริ่มและประกอบพระราชกรณียกิจมายาวนานกว่า 70 ปี นอกจากทรงสืบสานงานการประกวดผ้าไทย ยังทรงต่อยอดฝ่าทะลวงปัญหาของผ้าไทยด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา พร้อมพระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ใช้ได้ทุกวัย ทุกโอกาส ทุกวาระ เพียงแต่รู้จักนำมาออกแบบตัดเย็บให้ถูกใจตัวเอง พระองค์ท่านมาพร้อมวิทยาการสมัยใหม่ตาม ที่ทรงศึกษาเล่าเรียนด้านแฟชั่น เช่น การผลิตชิ้นงานที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม








Advertisement

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่าในวันนี้ประชาชนทั้งประเทศดีใจมากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมี พระปณิธานแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด งานด้านผ้าไทยของสมเด็จพระพันปีหลวง นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระ ของพระบรมชนกนาถแล้ว พระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จ พระพันปีหลวง เราจะเห็นงานผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง

สำหรับผู้ชนะรางวัลพิเศษ 4 รางวัล ในการประกวด “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ ประกอบด้วย รางวัล Best of The Best ได้แก่ นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ประเภทผ้ายก ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น), รางวัลสีธรรมชาติยอดเยี่ยม นายวิทวัส โสภารักษ์ กลุ่มแพรวาโสภารักษ์ ประเภทแพรวา, รางวัลลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม นายวันเฉลิม ศรีภุยเดช เฮือนไหมมนัสวรรณ ไหมแท้ที่แม่ทอ จังหวัดอุดรธานี ประเภทผ้าขิด และรางวัล Young OTOP นายศุภกิจ บุญมีเลี้ยง กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ผ้าไหมปูมโบราณบ้านโนนสง่า จังหวัดสุรินทร์ ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ 3 ตะกอ และ ผู้ชนะเลิศรางวัลประเภทต่างๆ รวม 13 ประเภท

นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย กล่าวว่านับเป็นพระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ แนวคิดหลักคือการนำลวดลายผ้าพระราชทาน “ขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบและพระราชทานไว้ มาเป็นโจทย์หลักเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นนี้ โดยการนำลวดลายผ้าขิดพระราชทานนั้นมาสร้างจินตนาการเพิ่มเติม ผสมผสานรูปแบบลายไทยที่ปรากฏในผ้ายกแบบราชสำนัก เพื่อสื่อถึงสายสัมพันธ์และสายใยพระเมตตา ความห่วงหาอาทรของราชสำนักที่หลั่งไหลสู่พสกนิกรไทยมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน