ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.65 ชาวกรุงเทคะแนน 1,386,215 ล้านเสียง ให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แบบชนะขาดลอย โดยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเปิดตัวทีมงานชุดแรก 18 คน เดินหน้านโยบาย 216 ข้อที่หาเสียงไว้ทันที

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ในปี 2565 นี้ ได้เริ่มทำไปแล้ว 164 ข้อ โดย นายชัชชาติเผยว่า เป็นนโยบายที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ อาทิ การป้องกันน้ำท่วมที่ขุดลอกท่อ ขุดลอกคลอง ซ่อมแนวป้องกันน้ำท่วม ซ่อมแนวฟันหลอ ปรับปรุงทางเท้า จัดระเบียบ สายสื่อสาร ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างบ้านพักอาศัย ขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตร ผ่านออนไลน์ได้ เพิ่มการจ้างงานกับผู้พิการผ่านการทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม

ด้านงานชุมชนจัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี 100 คน เพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับคนในชุมชน เปิดจุดดร็อปอิน ให้กับคนไร้บ้าน ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) พัฒนาบ้านมั่นคง เดินหน้าแก้ไขข้อบัญญัติสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการและขยายขอบเขตหน้าที่การทำงานให้ครอบคลุม โดยมีเป้าหมายจัดสวัสดิการ (ที่อยู่อาศัย) ราคาถูกให้กับข้าราชการกทม. ด้านการสร้างอาชีพ จัดหาผู้ร่วมมือ เชื่อมโยงศูนย์ฝึกอาชีพและโรงเรียนฝึกอาชีพกับแหล่งงาน โดยเพิ่มสัดส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาหางานได้

ด้านการศึกษา โรงเรียนสังกัด กทม.54 แห่ง เข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนใหม่ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจัด 12 เทศกาล จัดกิจกรรมดนตรีในสวน จัดกิจกรรมหนังกลางแปลง และตั้งคณะกรรมการจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในย่านขึ้นมา เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของแต่ละย่าน

สวนเบญจกิติ

 

ด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 โดยตรวจรถควันดำจากต้นตอ ทั้งรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก ตรวจโรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ลานถมดิน จัดเสวนาวิชาการ หาแนวร่วมจากเอกชน เพื่อลดปริมาณการปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ยังเพิ่มสวนสาธารณะไปแล้ว 13 แห่ง เพิ่มสวนสุนัข 1 แห่ง อบรมรุกขกร เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขตมีความรู้ในการตัดต้นไม้

ด้านสาธารณสุข เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ โดยทำบัตรประจำตัวคนพิการได้ที่ร.พ. 9 แห่ง เปิดให้บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine ด้านสาธารณภัย พัฒนา Bangkok Risk Map แผนที่เสี่ยงภัยต่างๆ ของกรุงเทพฯ ด้านยุทธศาสตร์และประเมินผล โดยปรับผลการประเมินของกทม. เน้นการประเมินผลจากประสิทธิภาพการทำงาน

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายที่เหลืออีก 52 ข้อ แบ่งเป็นอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและแนวทางดำเนินการ 33 ข้อและยังไม่เริ่ม 19 ข้อ เนื่องจากอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยังขาดความพร้อมในเรื่องงบประมาณ ตลอดจนขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะกทม.ยังไม่เคยดำเนินการในลักษณะนี้ รวมทั้งติดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ จึงมอบหมายรองผู้ว่าฯ กทม. ช่วยดูแลในส่วนต่างๆ

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหาอุปสรรคมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น เรื่องหาบเร่แผงลอย กทม.พยายามผลักดันให้เป็นระเบียบ โดยเฉพาะทางเท้า แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจหลังโควิด จำเป็นต้องนึกถึงผู้ประกอบการด้วย เพราะพวกเขายังต้องเลี้ยงดูครอบครัว เป็นมิติเกี่ยวเนื่องกับชีวิตและความเป็นอยู่ กทม.ไม่สามารถผลักดันผู้หาบเร่แผงลอยทุกคนออกจากทางเท้าได้ เพราะกระทบต่อผู้หาเช้ากินค่ำ สิ่งที่ทำได้คือควบคุมจำนวนไม่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริหารเมืองจำเป็นต้องหาจุดสมดุลในแง่ความเป็นอยู่ของชีวิตแต่ละคน จึงเป็นเหตุผลว่ากระบวนการบางอย่างอาจไม่ทันใจใครหลายคน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความสมดุล

อีกเรื่องคือการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน เข้าใจว่าหลายคนกำลังรอคอย แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องตามกฎหมายควบคุม กทม.ไม่มีอำนาจตัดสายของใครได้ จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจาก กสทช.ซึ่งเป็นผู้ดูแลกำกับสายสื่อสารส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ผ่านมา กทม.ถูกตำหนิว่าไม่จ่ายหนี้สิน แต่อยากให้เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหามานานหลายปี เมื่อเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.เพียง 6-7 เดือน จะสั่งจ่ายหนี้ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.เพื่ออนุมัติงบประมาณมาจ่ายหนี้อย่างถูกต้องโปร่งใสตามกระบวนการ เพราะเป็นภาษีประชาชน

“เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการเปิดให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งปัญหา ทราฟฟี่ฟองดูว์ คือ สัญลักษณ์ให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจสั่งการแก้ไข มีอำนาจร้องเรียน เป็นการสร้างความไว้ใจระหว่างประชาชนกับ กทม.เมื่อประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เขาจึงอยากมีส่วนในการพัฒนามากขึ้น ปัจจุบันมีประชาชนแจ้งปัญหาแล้ว 190,000 เรื่อง แก้ไขปัญหาไปแล้ว 130,000 เรื่อง” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า มีประชาชนจำนวนมากเชื่อใจให้กทม.แก้ปัญหา จึงช่วยเป็นหูเป็นตาให้ ซึ่งกทม.ได้ประโยชน์หลายทาง ทั้งเรื่องจัดการทุจริต การพัฒนา รวมถึงการชี้วัดความเอาใจใส่ประชาชนของแต่ละเขต ซึ่งความไว้ใจเป็นจุดเริ่มต้นของทุกเรื่องในการทำงานของ กทม. และถึงแม้ตัวเลข ดังกล่าวจะไม่มาก แต่เชื่อว่าเดินมาถูกทาง จากนี้เราต้องเร่งสร้างความเชื่อใจ เพราะหากสร้างความไว้ใจได้สามารถสร้างแนวร่วมเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

สำหรับปี 2566 ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จะเน้นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนา แต่ในด้านอื่นๆ ก็ยังต้องเดินหน้าต่อเนื่อง อาทิ ด้านการศึกษาจะพัฒนาระบบการศึกษา โดยมุ่งเป้าเปลี่ยนหลักสูตรและวิธีบริหารจัดการใหม่ ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน นำร่อง 30 แห่ง ด้านสาธารณสุข พัฒนาแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลสำคัญ ได้แก่ จุดวิกฤตพื้นที่น้ำท่วม จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ จุดเสี่ยงไฟไหม้ จุดเสี่ยงสารเคมีรั่วไหล รวมถึงกำลังพิจารณาเรื่องจุดเสี่ยงอาชญากรรมเพิ่มเข้าไป เพราะปัจจุบัน กทม.สามารถดึงข้อมูลจากกล้องวงจรปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแอพฯ หมอพร้อมสามารถบอกประชาชนได้ว่าตรงไหนคือเส้นทางวิกฤต หรือจุดเกิดเหตุอันตราย

หนังกลางเเปลง

 

ณ ขณะนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสามารถทราบเส้นทางเข้าออกในพื้นที่เกิดเหตุ และรู้จำนวนผู้เปราะบางในพื้นที่ กระทั่งรู้แนวทางการเคลื่อนย้ายผู้เปราะบางได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้จะขยายสถานพยาบาลปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายความหนาแน่นของโรงพยาบาลด้วย

สวดถวายพระพร

 

ด้านการป้องกันน้ำท่วม มีแผนขุดลอกท่อให้ได้อย่างน้อย 3,000 ก.ม. ขุดลอกคลองเปิดทางน้ำผ่าน 183.7 ก.ม.ซ่อมแนวป้องกันน้ำท่วม 20 แห่ง ระยะทาง 4.7 ก.ม. ซ่อมแนวฟันหลอ 4 แห่ง ระยะทาง 500 เมตร ปรับปรุงทางเท้า 250 ก.ม.

ด้านการบริหารการจราจร จะนำข้อมูลจากกล้องวงจรปิดมาวิเคราะห์จุดเสี่ยงอุบัติเหตุมากขึ้น ประกอบกับจัดทำสถิติอุบัติเหตุตามจุดต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขจุดฝืด จุดรถติด รวมถึงจุดอื่นๆ กว่า 266 จุด โดยมีแผนนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ควบคุมไฟจราจรส่วนกลาง พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยจัดการเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดสร้างโมเดลสัญญาณไฟจราจรอิเล็กทรอนิกส์ทำงานอัตโนมัติตามแยกต่างๆ สามารถบันทึกข้อมูลอุบัติเหตุประจำแยกได้โดยไม่ต้องใช้คนคอยควบคุมสัญญาณ เพื่อรวบรวมและระบุจุดที่เกิดปัญหาการจราจรทั้งหมด รวมถึงการกวดขันวินัยจราจร เช่น ตรวจจับความเร็ว การไม่เคารพสัญญาณไฟ เป็นต้น

ด้านการจัดสวัสดิการให้ข้าราชการ กทม.ร่วมกับภาคเอกชนปรับปรุงตึกร้างให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนจบใหม่เช่าในราคา 2,500-3,000 บาท

ก้าวแรกของนายชัชชาติเริ่มขึ้นในปี 2565 ต้องติดตามก้าวต่อไปในปี 2566 ว่าจะสามารถเดินหน้าไปได้อีกแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน