ตลอดปี 2565 สถานการณ์การเมืองคุกรุ่นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่เข้าสู่โค้งสุดท้ายวาระ 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะครบวันที่ 23 มี.ค.2566 และต่างจับตานายกฯ จะยุบสภาก่อน หรือไม่ บรรดาพรรคการเมืองและส.ส.จึงมีการเคลื่อนไหวกันคึกคักเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2566

พรรครัฐบาลป่วน

เริ่มต้นม.ค.65 การเมืองเข้มข้น

โดยเฉพาะซีกรัฐบาล ที่ปะทะกันเดือดหลายระลอก เริ่มจากการเลือกตั้งซ่อมส.ส. 3 เขต แทนตำแหน่งที่ว่าง

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งคนชิงเก้าอี้ชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6

16 ม.ค.ผลเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รักษาเก้าอี้ได้ทั้ง 2 เขต

เป็นเหตุพรรคพลังประชารัฐซัดกันหนักเรื่องสาเหตุพ่ายแพ้ บานปลายถึงขั้นกรรมการบริหารพรรคมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรค และส.ส.ในกลุ่มอีก 21 คนออก

ตามมาด้วยกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลจะลอยแพพลังประชารัฐ

11 ก.พ. บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงขั้นออกปาก ‘หนูช่วยหน่อยนะ’ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็รับปาก

8 มี.ค. บิ๊กตู่จัดดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่เชิญพรรคเล็ก คาดว่าเพื่อเช็กเสียง

12 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัสที่ไปนั่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) นำพรรคถอนตัวจากรัฐบาล หลังผู้สมัครพ่ายเลือกตั้งซ่อมส.ส.ลำปาง เขต 4 แบบย่อยยับ

อ้างเหตุชาวบ้านไม่เอารัฐบาล จึงต้องชูจุดยืนเลือกข้างฝ่ายค้าน 100%

15 ก.ย. พรรคภูมิใจไทย ฉุนจัดที่สภาโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งมีส.ส.รัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมขบวนด้วย แถม 2 พรรคยังเปิดฉากซัดกันเดือดอีกหลายระลอก ถึงขนาดประกาศตัดไมตรีกันหลังสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้

ส่งสัญญาณเลือกตั้งสมัยหน้าเดือดแน่นอน

ประหารทางการเมือง-จำคุกส.ส.

ปี 2565 มีคดีดังการเมืองที่ต้องบันทึกไว้หลายคดี

เริ่มจาก 4 มี.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลฎีกานักการเมือง พิพากษาอุทธรณ์คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ มีนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพวกรวม 14 ราย เป็นจำเลย

พิพากษาเเก้โทษริบทรัพย์ นายวัฒนา จำเลยที่ 1,4,5,6,7,8 เเละ 10 ร่วมชดใช้เงิน 89 ล้านบาท ในส่วนอาญาพิพากษายืนจำคุก 99 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี นายวัฒนา ถูกนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ปิดคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรที่ยืดเยื้อมาถึง 15 ปี

7 เม.ย. ศาลฎีกาพิพากษาให้ เอ๋-น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ พ้นส.ส.ราชบุรี เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต คดีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีครอบครองทำประโยชน์เลี้ยงไก่ในที่ดินส.ป.ก. ในจ.ราชบุรี ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการเข้าไปทำกิน ถือเป็นส.ส.รายแรกที่ถูกประหารทางการเมือง

6 ก.ค. ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำคุก 2 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นายมาโนช เสนพงศ์ อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช และนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ คดีทุจริตเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557

3 ส.ค. ศาลฎีกานักการเมือง สั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 2 เเสนบาท น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ คดีเสียบบัตรเเทนกันในการประชุมสภาเมื่อปี 2562 โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี

22 ก.ย. ศาลฎีกานักการเมือง สั่งจำคุก 2 ปี นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย คดีเสียบบัตรแทนเพื่อนเมื่อปี 2556 ลดโทษเหลือจำคุกรวม 16 เดือน ไม่รอลงอาญา

12 ต.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 สั่งจำคุก 1 ปี นายพิบูลย์ รัชกิจประการ ส.ส.สตูล พรรคภูมิใจไทย สมัยเป็นนายกเทศมนตรีสตูล คดีอนุญาตก่อสร้างโรงแรมสินเกียรติธานี โดยมิชอบ แต่รอการลงโทษ 2 ปี

7 มิ.ย.อัยการสูงสุด มีคำสั่งดำเนินคดีอาญาฟ้อง ‘ครูโอ๊ะ’ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย คดีรุกป่าเขาใหญ่ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดพร้อมนายสุนทร วิลาวัลย์ บิดา นายกอบจ.ปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

26 ส.ค. ศาลฎีกาสั่งพักงานนางกนกวรรณ

ขณะที่ป.ป.ช.ส่งศาลฎีกาพิจารณานางกนกวรรณ ในคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

ทั้งดาบแรกและดาบสอง ต้องรอลุ้นผลคดีกันต่อไป

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

22 พ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง 31 คน

ที่โดดเด่น มีทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ

ผลปรากฏ นายชัชชาติชนะแบบถล่มทลาย สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยการกวาดไปถึง 1,386,215 คะแนน

อันดับสอง ดร.เอ้-นายสุชัชวีร์ ได้ 254,647 คะแนน ตามมาด้วยนายวิโรจน์ 253,851 คะแนน นายสกลธี 230,455 คะแนน พล.ต.อ.อัศวิน 214,692 คะแนน

ส่วนการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาใน วันเดียวกัน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ กลุ่มเรารักพัทยา จากบ้านใหญ่ชลบุรี คว้าชัย 14,349 คะแนน

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นภาพสะท้อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปี 2566

สนามกทม.คงระอุไม่น้อย

ศึกซักฟอก

17-18 ก.พ. ฝ่ายค้านอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152

โดยจี้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลาออก-ยุบสภา อ้างบริหารประเทศไม่มีศักยภาพทำ “แพงจนพังทั้งแผ่นดิน”

ถือเป็นการโหมโรงเอาฤกษ์เอาชัย

19-22 ก.ค. ฝ่ายค้านลุยอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ 11 รัฐมนตรี ภายใต้ “ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน”

โดยมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นเป้าหลักโดนรุมถล่มติดต่อกัน 2 วันครึ่ง รวมเวลาราว 30 ช.ม.

ผลสอบผ่านฉลุย ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

แต่กว่าจะผ่านด่านโหวตไปได้ วิ่งทำดีลกลุ่ม 16 และพรรคเล็กร่วมรัฐบาลแบบฝุ่นตลบ

งานนี้ถูกวิจารณ์แจกกล้วยแทบหมดสวน

ไทม์ไลน์-กฎหมายลูกเลือกตั้ง

สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค.2566

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งไทม์ไลน์วันที่ 7 พ.ค.2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

เว้นแต่นายกฯ ยุบสภา ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแก้ไข การเลือกตั้งส.ส. ครั้งหน้า กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต 400 คน อีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน

ตามขั้นตอนต้องจัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

24-25 ก.พ.ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา รับหลักการวาระ 1 ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. 4 ฉบับ และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง 3 ฉบับ

จากนั้นนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ โดยกมธ.มีมติให้ใช้บัตรคนละเบอร์ เลือกส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ

ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. รัฐสภาโหวตเอกฉันท์วาระ 2-3 ผ่านร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ขณะที่ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. ในวาระ 2 เห็นชอบพลิกสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากหาร 100 เป็น หาร 500

15 ส.ค. พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการกลับไปใช้สูตรหาร 100 ได้เล่นเกมสภาล่มถึง 4 ครั้ง ยื้อเวลาให้พ้น 180 วัน ตามกรอบรัฐธรรมนูญ เพื่อคว่ำสูตรหาร 500

ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบตามร่างแรกที่เสนอโดย ครม. ใช้สูตรหารด้วย 100

ต่อมาส.ว. 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 106 ส.ส.-ส.ว.ยื่นศาลวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งปมหาร 100

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.ทั้งฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เลือกตั้งบัตร 2 ใบ สูตรหาร 100 ทำพรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็กมีสิทธิ์สูญพันธุ์

วาระ 8 ปี-บิ๊กตู่ไปต่ออีก 2 ปี


24 ส.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ 172 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ขอให้วินิจฉัยวาระนายกฯ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีมติ 5 ต่อ 4 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

แต่ ‘บิ๊กตู่’ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรมว.กลาโหม ต่อไป

พล.อ.ประวิตรนั่งรักษาราชการแทนนายกฯ โดยอัตโนมัติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 ที่มอบหมายรองนายกฯ ตามลำดับ

30 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ให้ ‘บิ๊กตู่’ ได้ไปต่อ

โดยเริ่มนับวาระนายกฯ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ คือ 6 เม.ย.2560

ฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ว่าไม่ชอบธรรม เพราะเห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 เท่านั้น

ขณะที่ พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษาพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าวาระ 8 ปีไม่นับรวมช่วงพักหน้าที่นายกฯ 38 วัน

6 ธ.ค. บิ๊กตู่ พูดชัดจะไปต่ออีก 2 ปี

23 ธ.ค.ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ยืนยันไม่มีปัญหากับ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ จึงต้องจับตาอนาคตของพี่น้อง ‘3 ป.’

จะยังเหนียวแน่น แยกกันตี หรือแยกทางใครทางมัน

พรรคการเมืองฝุ่นตลบ

พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างคึกคัก

20 มี.ค. ที่จ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลุยสร้างบ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม

ต่อมามีการปล่อยชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ควบคู่กับ อุ๊งอิ๊ง

3 ส.ค. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เลือกนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรคตามโผ แล้วกวาดต้อนส.ส.และสมาชิกจากพรรคอื่น โดยเฉพาะพลังประชารัฐเข้ามาสังกัด

ที่สำคัญต่างรอการเข้าเป็นสมาชิกพรรคของบิ๊กตู่ เพื่อลงสนามการเมืองเต็มตัว

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็จัดทัพแบบลุ่มๆ ดอนๆ เพราะส.ส.ย้ายค่ายเยอะ แต่ลูกพรรคที่เหลือก็ชู ‘ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับหนึ่ง

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ได้ส.ส.จากพรรคอื่นเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์เลือดไหลเป็นระลอก ส่วนใหญ่เป็นอดีตส.ส.รุ่นเก่า

20 เม.ย. พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) เลือก 2 กุมารคือ นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ถัดมา 8 ก.ย. เปิดตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งประธานพรรค พ่วงด้วยแคนดิเดตนายกฯ

9 ก.ย. พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เลือก เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ประกาศส่งผู้สมัครส.ส.ครบทุกเขต

ส่วนพรรคการเมืองเล็ก ต้องดิ้นรวมพรรคกันสุดฤทธิ์ เพื่อหนีตายสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หารด้วย 100

โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พรรคการเมืองฝุ่นตลบไปตามๆ กัน

ตลาด ส.ส.ก็คึกคักเป็นยิ่งนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน