พระเกจิมรณภาพ

ส่งท้ายปีขาล พ.ศ.2565 วงการสงฆ์ไทยสูญเสียพระภิกษุเรืองนามผู้คร่ำหวอดหลากหลายด้าน ทั้งพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ พระสายปฏิบัติ พระเกจิคณาจารย์ดัง พระนักปกครองผู้มากด้วยประสบการณ์ พระนักเทศน์เผยแผ่ธรรม ฯลฯ

สิ้น‘พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร’

พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (ถนอม เถี่ยนถึก) เจ้าอาวาสวัดกุศลสมาคร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ และเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกายแห่งประเทศไทย

ตลอดชีวิตการครองเพศบรรพชิต ท่านช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักเรียนทั่วไป และส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณรอนัมนิกาย

เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกุศลสมาครวิทยาลัย เพื่อให้เป็นศาสนสถานทางการศึกษาอีกแห่งหนึ่งของคณะสงฆ์อนัมนิกาย มีผู้จบการศึกษาและศิษย์เก่าของโรงเรียนได้บวชเป็นศาสนทายาท ปฏิบัติหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์อนัมนิกายอีกหลายรูปด้วยกัน

กล่าวได้ว่า ท่านโดดเด่นทั้งด้านการบริหารและด้านวิชาการ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เปี่ยมเมตตาคุณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

ช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 23 ม.ค.2565 เวลา 17.55 น. พระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร (ถนอม เถี่ยนถึก) ละสังขารอย่างสงบ ด้วยอาการปอดติดเชื้อและติดเชื้อในกระแสเลือด

ภายหลังอาพาธและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 85 ปี พรรษา 63


อาลัย‘สมเด็จพระวันรัต’

วงการสงฆ์สูญเสียพระเถระอีกครั้ง ด้วย “สมเด็จพระวันรัต” (จุนท์ พรหมคุตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร, อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม, อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65

เจ้าประคุณสมเด็จฯ อาพาธด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 เพื่อให้คณะแพทย์ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด

กระทั่งวันที่ 15 มี.ค. เวลา 14.22 น. มรณภาพอย่างสงบที่อาคารภูมิสิริ มังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ.2499 ท่านเป็นพระนวกะร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ต.ค.2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พ.ย.2499

อีกทั้งเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลียังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2521 ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาผนวชในวันที่ 20 พ.ย.2521


‘หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ’ พระดีที่จากไป

“พระครูอดุลพิริยานุวัตร” หรือ “หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ” อดีตเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี พระเกจิสืบสายวิชาจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ด้วยการร่ำเรียนวิชาจากอาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว ทำให้ได้สืบทอดวิชาการสักยันต์ เด่นรอบด้านรวมทั้งวิทยาคม การทำตะกรุดและเครื่องรางของขลัง

อีกทั้งยังสืบทอดวิชาสายหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จากพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทร จ.สมุทรสงคราม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเพชรสมุทร (วัดบ้านแหลม)

อย่างไรก็ตาม ท่านมีอาการอาพาธ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โดยเข้ารักษาตัวนานกว่า 2 เดือน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2565 คณะศิษย์และชาวบ้านวังกระแจะยังได้จัดงานมุทิตาจิตฉลองอายุวัฒนมงคล เนื่องในวันคล้าย วันเกิดหลวงพ่อชุบ ทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้ท่านได้มีสุขภาพแข็งแรง

กระทั่งเวลา 20.40 น. วันที่ 20 เม.ย.2565 หลวงพ่อชุบละสังขารด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74


‘พระราชกิตติรังษี’ละสังขารสงบ

“พระราชกิตติรังษี” (บุญทัน สันตจิตโต) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 และอดีตเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ต.ค.2565 เวลา 16.10 น. ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ สิริอายุ 81 ปี พรรษา 60

ท่านเข้ารักษาครั้งแรกที่หอผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) ร.พ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565 ด้วยอาการหน้ามืด วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ หลังเข้ารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนักอาการยังทรุดตัวลง มีภาวการณ์ หายใจล้มเหลวจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นความดันโลหิตในระดับที่สูงและใช้เครื่องช่วยพยุงหัวใจ ความดันโลหิตไม่คงที่ ออกซิเจนในเลือดต่ำ

คณะแพทย์ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ได้ทำการบำบัดทดแทนไตอย่างต่อเนื่อง แต่อาการท่านยังไม่ดีขึ้น

กระทั่งเวลา 16.10 น. วันที่ 6 ต.ค.2565 มรณภาพโดยสงบ ทำให้คณะศิษยานุศิษย์เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง


สิ้นเกจิดัง ‘หลวงปู่แสง จันทวังโส’

“พระเทพมงคลวัชรโรดม” หรือ “หลวงปู่แสง จันทวังโส” อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านโพนตูม หมู่ 4 ต.ก้านเหลือง อ.นาแก จ.นครพนม เป็นนามพระเกจิที่ชาวบ้านมักคุ้นเคยต่อการเรียกขานของบรรดาคณะศิษย์ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่เลื่อมใสศรัทธาต่อท่าน

ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดและเปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสาธุชนโดยทั่วไป มีจิตที่เปี่ยมด้วย ความเมตตา อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

ท่านยังเป็นแพทย์แผนไทย รักษาโรคด้วยสมุนไพรอีกด้วย

แต่ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร หลวงปู่แสงมีโรคประจำตัวคือ โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ มีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เนื่องจากชราภาพมากแล้ว

ท้ายที่สุดเวลา 06.20 น. วันที่ 21 เม.ย.2565 ท่านมรณภาพอย่างสงบที่กุฏิวัดโพธิ์ชัย สิริอายุ 111 ปี พรรษา 91

สร้างความเศร้าสลดแก่ศิษยานุศิษย์


ชาวพุทธสารคามร่ำไห้สิ้น‘พระเทพสารคามมุนี’

“พระเทพสารคามมุนี (ปุ้ม ปัณฑิโต)” เปรียบดังเช่นเสาหลักแห่งวงการคณะสงฆ์เมืองมหาสารคาม

ด้วยความเป็นพระนักปกครอง นักวิชาการ นักเผยแผ่ธรรมที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ ทำให้พุทธศาสนิกชนมีที่พึ่งสงบร่มเย็นเป็นสุข ด้วยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแห่งความศรัทธามั่น แม้จะมิใช่พระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

บัดนี้ วงการสงฆ์ไทยได้สูญเสียบุคลากรอันทรงคุณค่าไปอย่างไม่หวนกลับ “พระเทพสารคามมุนี” อดีตเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม อดีตกรรมการที่ปรึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอดีตเจ้าอาวาสวัดอภิสิทธิ์ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม มรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลมหาสารคาม เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 74

พระพรหมวัชรเมธี เจ้าคณะภาค 9 เป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพพระเทพสารคามมุนี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน