“คะแนนของพรรคเพื่อไทยขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรก… หากสูงขึ้นมากกว่านี้โอกาสจะกดคะแนนลงมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

ไฮไลต์สำคัญของการเมืองปี 2566 ถูกโฟกัสไปที่การเลือกตั้งทั่วไป ฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ว่าที่แคนดิเดต นายกฯ ที่สังคมจับตา ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดต นายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย

โพลหลายสำนักสุ่มสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองเป็นระยะ ที่น่าสนใจคือนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ รวมทั้งคะแนนพรรคการเมือง แบบรายไตรมาสตลอดปี 2565

ไตรมาสแรก สำรวจช่วง 10-15 มี.ค.2565 จาก 2,020 หน่วยตัวอย่าง บุคคลที่อยากให้เป็นนายกฯ อันดับ 1 ร้อยละ 27.62 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 2 ร้อยละ 13.42 นายพิธา เพราะตรงไปตรงมา ชื่นชอบวิธีการทำงาน มีวิสัยทัศน์และต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร

อันดับ 3 ร้อยละ 12.67 พล.อ.ประยุทธ์ เพราะซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายช่วยเหลือประชาชนได้จริง จะได้บริหารประเทศต่อเนื่อง

อันดับ 4 ร้อยละ 12.53 น.ส.แพทองธาร เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร

อันดับ 5 ร้อยละ 8.22 คุณหญิงสุดารัตน์ เพราะชื่นชอบนโยบาย มีประสบการณ์บริหารประเทศ

ขณะที่นายจุรินทร์รั้งอยู่อันดับ 10 ที่ร้อยละ 2.58 เพราะเป็นคนซื่อสัตย์ บริหารงานตรงไปตรงมา และตั้งใจทำงาน โดยที่ พล.อ.ประวิตร นายอนุทิน ติดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ

ในไตรมาส 2 สำรวจวันที่ 20-23 มิ.ย.2565 จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง อันดับมีการเปลี่ยนแปลง อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 น.ส.แพทองธาร อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 นายพิธา อันดับ 4 ร้อยละ 11.68 พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ที่มีสัดส่วนเสียงสนับสนุนลดลง และลำดับหล่นมาอยู่ที่ 4 นายจุรินทร์ก็มีคะแนนลดลง ตกมาอยู่ที่ 11 ได้ร้อยละ 1.56 น้อยกว่าไตรมาสแรกที่ได้ร้อยละ 2.58 คุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งอยู่ที่ 5 เหมือนเดิม แต่สัดส่วนผู้สนับสนุนลดเหลือร้อยละ 6.80

ที่ได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นคือ น.ส.แพทองธาร จากร้อยละ 12.53 เป็นร้อยละ 25.28 ขณะที่นายอนุทินขยับมาอยู่อันดับที่ 12 ร้อยละ 1.52 จากที่รั่งท้ายติดอยู่ในกลุ่มพรรคอื่นๆ

ไตรมาส 3 สำรวจ 15-21 ก.ย.2565 จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง น.ส.แพทองธาร นายพิธา และพล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสนับสนุนลดลง แต่ลำดับยังไม่เปลี่ยน ดังนี้ อันดับ 2 ร้อยละ 21.60 น.ส.แพทองธาร อันดับ 3 ร้อยละ 10.56 นายพิธา อันดับ 4 ร้อยละ 10.12 พล.อ.ประยุทธ์

อันดับ 5 ร้อยละ 9.12 คุณหญิงสุดารัตน์ เสียงเพิ่มจากเดิมซึ่งได้ร้อยละ 6.80 เช่นเดียวกับนายอนุทิน ขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ร้อยละ 2.40 ส่วนนายจุรินทร์ คะแนนเพิ่มจากไตรมาส 2 ที่ร้อยละ 1.56 เป็น 1.68 แต่อันดับหล่นไปอยู่ที่ 13

ไตรมาส 4 วันที่ 17-22 ธ.ค.2565 จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง มีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ลำดับแรกอีกครั้ง โดยอันดับ 1 ร้อยละ 34.00 น.ส.แพทองธาร อันดับ 2 ร้อยละ 14.05 พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 3 ร้อยละ 13.25 นายพิธา

พล.อ.ประยุทธ์ขยับแซงนายพิธาด้วยสัดส่วนเสียงหนุนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2 แต่ยังเป็นรอง น.ส.แพทองธาร

น่าสังเกตว่า คะแนนของน.ส.แพทองธารทิ้งห่างคู่แข่งเท่าตัวนับตั้งแต่การสำรวจในไตรมาสที่ 2 ส่วน คุณหญิงสุดารัตน์ แม้หนนี้ได้คะแนนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 6.45 แต่รั้งอันดับ 5 มาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สำหรับ นายอนุทินไต่อันดับขึ้นมาที่ 7 เช่นเดียวกับนายจุรินทร์มาที่ 10

ที่สำคัญการสำรวจทุกครั้งชื่อของพล.อ.ประวิตรถูกจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ รั้งท้ายรวมกับพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ทั้ง 4 ไตรมาส

นอกจากตัวชิงนายกฯ อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ คะแนนสนับสนุนพรรคการเมือง

ไตรมาส 1 อันดับ 1 ร้อยละ 28.86 ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 25.89 พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.24 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.97 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 7.03 พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทยมาที่ 9 ร้อยละ 1.88 ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติรั้งท้ายในกลุ่มพรรคอื่นๆ

ไตรมาส 2 อันดับ 1 ร้อยละ 36.36 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย อันดับ 3 ร้อยละ 17.88 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.00 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 5 ร้อยละ 6.32 พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคภูมิใจไทย อันดับ 9 ร้อยละ 2.56

ไตรมาส 3 อันดับ 1 ร้อยละ 34.44 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 24.00 ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย อันดับ 3 ร้อยละ 13.56 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.56 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 5.56 พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทยยังอยู่อันดับ 9 ร้อยละ 2.32

ไตรมาส 4 อันดับ 1 ร้อยละ 42.95 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 16.60 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 8.30 ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย อันดับ 4 ร้อยละ 6.95 พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 5.35 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 5.25 พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 4.00 พรรคพลังประชารัฐ

จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 และ 2 ต่อเนื่อง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐเบียดแย่งอันดับที่ 3 และ 4 กระทั่งไตรมาส 4 พรรครวมไทยสร้างชาติแซงนำประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐตกไปอยู่ที่ 7 ส่วนพรรคภูมิใจไทยกระเตื้องจากที่ 9 มาเป็นที่ 7

ผลสำรวจสามารถมองไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 อย่างไรหรือไม่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ให้สัมภาษณ์ว่า จากโพลไตรมาส 4 มองถึงการเลือกตั้งปี 66 ได้ส่วนหนึ่งคือในส่วนของกระแส แต่การเมืองไทยกระแสไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

ทรัพยากรในการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงตัวบุคคล บ้านเล็กบ้านใหญ่ ก็เป็นปัจจัยที่มาเป็นองค์ประกอบเสริม และบางทีกระแสอาจใช้ได้กับเมืองใหญ่ แต่ในเขตเล็กๆ ก็อาจมีปัจจัยอื่นแทรกซ้อน

แต่ผลโพลทำให้เราได้เห็นอย่างหนึ่งว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสแรก หากพรรคฝั่งรัฐบาลยังไม่ขยับตัวหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ยุบสภาเพื่อรีบจัดการเลือกตั้งในช่วงก.ย. ก่อนที่คะแนนของพรรคเพื่อไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ เพราะหากสูงขึ้นมากกว่านี้โอกาสจะกดคะแนนลงมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ไม่รู้ว่าฝั่งที่ต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยจะมีแนวรับแบบไหนในการกดคะแนนลงมา แต่กระแสขณะนี้ ถ้ามีการเลือกตั้งพรุ่งนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยน่าจะชนะ เดาว่าอาจยังไม่แลนด์สไลด์ ถ้าเพื่อไทยจะพลาดก็มีเพียงอย่างเดียวก็คือได้เสียงต่ำกว่า 200 ซึ่งก็ต้องดูปัจจัยนอกอื่นๆ ที่เสริมเข้ามา

ผู้ได้รับการสนับสนุนให้เป็น นายกฯ น่าจะแข่งกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับน.ส.แพทองธาร และต้องยอมรับว่าคะแนนของพล.อ.ประยุทธ์ลดลงมาเรื่อยๆ จากปีที่แล้ว ซึ่งคะแนนที่หายไปกลับคืนมาได้นิดหน่อย อาจเพราะเริ่มแสดงตนชัดเจนว่าจะเล่นการเมือง

ส่วนน.ส.แพทองธาร คะแนนค่อยๆ เขยิบขึ้นมาตามคะแนนพรรค จะเห็นได้ว่าคะแนนพรรคมีมากกว่าคะแนนของบุคคลแสดงว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เลือกพรรคเพื่อไทยแต่ไม่อยากได้น.ส. แพทองธารเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะตอนเลือกตั้งเราก็เลือกพรรคไม่ใช่เลือกตัวบุคคล

หากถามว่าสองคนนี้เป็นคู่แข่งกันหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าใช่ แต่การเมืองไทยไม่จำเป็นว่าคนที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นนายกฯ เสมอไป คนที่ได้คะแนนน้อยก็อาจเป็นนายกฯ ได้เช่นกัน

เช่น นายอนุทิน คะแนนพรรคอาจน้อย เพราะที่ทราบพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีนโยบายเน้นกระแสพรรค แต่เน้นไปที่ตัวบุคคล เพราะเชื่อว่าการใช้ทรัพยากรทางการเมืองอย่างเต็มที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะคว้าชัยชนะมากกว่ากระแส

พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ ต่ออีกครั้งหนึ่งมีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ พรรครัฐบาลรวมคะแนนกันให้เกิน 250 เสียง แต่หากได้เสียงไม่ถึงโอกาสยากมาก ซึ่งอาจมีการรวมกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐก็ได้ เพราะตอนนี้พรรคพลังประชารัฐอยู่กับใครก็ได้

ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่คะแนนทั้งพรรคและบุคคลไม่ดีเพราะไม่เน้นกระแสพรรค แต่เน้นตัวผู้สมัครแต่ละเขต จึงคัดเฉพาะผู้สมัครดาวฤกษ์หรือดึงตัวเด่นของแต่ละพรรคไป

การลงคะแนนของประชาชนก็มีตั้งแต่กระแสพรรค กระแสบุคคล และนโยบาย พรรคภูมิใจไทยมีกระแสพรรคนิดหน่อยก็ถือว่าเป็นของแถม ก็ต้องใช้กระแสของตัวบุคคลในเขตพื้นที่ นโยบายพรรคและทรัพยากรทางการเมืองที่จะทุ่มเข้าไป ถ้ามี 4 อย่างนี้นอนมาแน่นอนในเขตนั้นๆ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์พูดได้อย่างเดียวว่าน่าสงสาร ที่จริงแล้วควรพลิกโอกาสเติบโตได้ในสมัยนี้ แต่กลับมีพรรครวมไทยสร้างชาติเกิดขึ้นมา หากดูจากคะแนน ก็จะทราบว่ารวมไทยสร้างชาติจะมาแบ่งคะแนน จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ อีกส่วนหนึ่งมาจากคนที่ไม่สนับสนุนพรรคใดเลยที่กลับมา สนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จึงร่วงทันที

ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ไม่อยู่ในโซนที่จะนำมาแข่งได้เลยนั้น คะแนนของพล.อ.ประวิตรไม่ได้มีมาตั้งนานแล้ว แต่การไม่มีคะแนนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเป็นนายกฯได้ ขอเพียงรวมเสียงได้ก็มีโอกาสเป็นนายกฯได้เช่นกัน

เพราะโพลคือกระแส และกระแสก็คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ แต่เวลาเลือกนายกฯ เขาเลือกกันในสภา ประชาชนไม่ได้โหวต เพราะประชาชนเลือกพรรคการเมือง เลือกส.ส.ไปแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่จะไปโหวตกันว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน