นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์จุดเปลี่ยนการเมืองไทย ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคการเมืองไหนรุ่ง พรรคการเมืองไหนร่วง ประเมินโฉมหน้าว่าที่นายกฯ อย่างไร

ปี 2566 จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยช่วง 9 ปี คือ นับมาจากวันที่ 22 พ.ค.2557 หากสภาอยู่ครบวาระคือ วันที่ 23 มี.ค.2566 จะเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 ตามที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ

ที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ซึ่งเป็นอย่างต่อเนื่องมาจากรอบแรก โดยรอบแรกเป็นนายกฯ ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนรอบสองในรัฐธรรมนูญปี 2562 มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่กำหนดให้มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ด้วย ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 เรายังไม่ได้กลับสู่ประชาธิปไตย เพียงแต่ให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ในการเลือกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ยังเป็นส.ว.เป็นผู้เลือก

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าหากดูผิวเผินอาจไม่แตกต่างจากเดิม เพราะส.ว.ชุดนี้มีวาระ 5 ปี ซึ่งจะครบวาระวันที่ 11 พ.ค.2567 หมายความว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าที่อย่างช้าไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 ส.ว.ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกไว้ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ จึงไม่แตกต่างในแง่ของตัวบทบัญญัติ

ความแตกต่างต้องดูกันที่การเลือกตั้งส.ส. ซึ่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เป็นช่วงขาขึ้นของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นช่วงที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ส.ส. 116 คน และเป็นที่ทราบกันดีว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้เพราะส.ว. และสูตรคำนวณส.ส. ซึ่งครั้งนี้จะไม่มีประเด็นเรื่องสูตรคำนวณเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นระบบบัตรสองใบซึ่งไม่ได้ซับซ้อน

หากมองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นขาขึ้น โอกาสของการจะเป็นนายกฯ โดยอาศัยเสียงส.ว.นั้นยังมีอยู่ เพราะต้องการส.ส.แค่ 126 คน โอกาสจะรวบรวมเสียงส.ส.จากพรรคต่างๆ ให้ได้ 126 เสียง ยังมีอยู่ แต่การจะได้ส.ส.ถึงครึ่งนั้นไม่ง่าย เพราะเป็นขาลง

อีกประการที่จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนการเมืองไทยในปี 2566 คือ พล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แยกทางกันแน่นอน เพียงแต่จะเป็นการแยกกันเดินรวมกันตีหรือไม่ แต่สิ่งที่มองเห็นขณะนี้คือแยกกันแน่นอน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ แยกกันแล้วจะมีการแย่งส.ส.เก่ากัน เป็นการวัดพลังกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร ว่าจะเหลือส.ส.เท่าไหร่ และแน่นอนว่าจะต้องมีการรวบรวมจากพรรคอื่นด้วย








Advertisement

ส่วนที่ต้องวิเคราะห์ว่าเป็นการแยกกันเดินรวมกันตี หรือไม่ ให้ดูตอนเลือกตั้งในการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ว่า มีการหลบหรือลงแข่งกันในเขตเดียวกันหรือไม่ หากไม่ลงเขตทับซ้อนกัน หมายความว่า เป็นการแยกกันเดิน รวมกันตี แต่ถ้าลงเขตทับซ้อนกัน หมายความว่าแตกกันจริงๆ

เมื่อเลือกตั้งจบ ถ้าทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร คือ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ได้ส.ส.ถึง 25% คือจำนวน 25 คน ตามเงื่อนไขที่จะเสนอชื่อว่าที่นายกฯ ได้ ขั้นต่อไปจะมาแย่ง ส.ว.กัน ประกอบกับเป็นขาลงด้วย ครั้งที่ผ่านมา ส.ว. 100% สอง ป. ก็ไม่แตกกัน แต่ครั้งนี้ปัจจัยเปลี่ยนแปลงไป จึงมองว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน

ส่วนที่มาที่สอง ป. แยกกัน เพราะเขาวิเคราะห์กันคนละทาง ต่างฝ่ายต่างประเมินฝ่ายตรงข้ามต่ำ

พล.อ.ประวิตรมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปีก็ไม่มีจุดขาย บรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐจะมีความสุขหรือไม่กับรัฐบาลที่เป็นได้อีกแค่ 2 ปี ดังนั้น ต้องขอมีหมายเลข 2 หมายเลข 3 เป็นว่าที่นายกฯได้หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่สบายใจที่จะมีว่าที่นายกฯ หมายเลข 2 เพราะกลัวจะถูกหักหลังตอนที่เสนอชื่อนายกฯ แต่จะไม่มีก็ไม่ได้หรือถ้ามีก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2568 สมมติท่านลงพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 1 เมื่อถึงปี 2568 ส.ว.ที่เลือกนายกฯ หมดวาระแล้ว

วิธีการที่ดีที่สุดคือเป็นให้ครบ 4 ปี ไม่ใช่เป็นครบ 2 ปี แล้วมีหมายเลข 2 มาเป็นต่อ เมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นแล้ว เพราะไม่มีส.ว.แล้ว เป็นที่มาว่า พล.อ.ประวิตรมองพล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่มีจุดขายแล้ว

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์มองตรงกันข้าม โดยมองว่าพรรคพลังประชารัฐขาลงแล้ว คะแนนนิยมของพล.อ.ประวิตรก็แย่กว่าพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนคนในพรรคก็ทยอยออก เลือดไหลเรื่อยๆ เป็นที่มาของการแยกทางกัน

“ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน 9 ปี หลังจากยึดอำนาจ เพราะแม้ว่า ส.ว.จะยังเลือกนายกฯ ได้อยู่ แต่โอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ หรือพล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกฯ ได้นั้น ไม่ง่ายเหมือนปี 2562 อีกต่อไป”

ส่วนระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะทุกครั้ง และครั้งนี้หลายคนเห็นว่าน่าจะเหมือนเดิมที่พรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบที่สุด ช่วงที่เอาระบบเลือกตั้งแบบนี้ เพราะเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ แต่เป็นการคาดการณ์ผิด เพราะเขาไม่นึกว่าพรรคพลังประชารัฐจะเกิดขาลง และแตกแยกกัน

ดังนั้น ที่คิดว่าปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน 9 ปี หลังจากยึดอำนาจ เพราะแม้ว่า ส.ว.จะยังเลือกนายกฯ ได้อยู่ แต่โอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ หรือพล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกฯ ได้นั้น ไม่ง่ายเหมือนปี 2562 อีกต่อไป เพราะแม้ส.ว.ยังอยู่ แต่โอกาสจะได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งลำบาก เพราะพรรคพลังประชารัฐขาลง สอง ป.แตกกัน ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นช่วงขาขึ้น

หรือสรุปได้ง่ายๆ ว่า คนที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จะไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนายกฯ ได้ ถ้าหากได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยรวมส.ส.อย่างเดียวได้ถึง 376 เสียง ก็ไม่ต้องง้อเสียง ส.ว. แต่ปัญหาคือถ้ารวมไม่ได้จะเกิดปัญหาตั้งรัฐบาลไม่ได้

“อย่าลืมว่ากติกาคือ 376 เสียง ไม่ใช่ 250 เสียงของส.ส. เพราะต้องใช้เสียงสองสภา ดังนั้นสูตรการจัดตั้งรัฐบาลกดเครื่องคิดเลขได้เลย คือต้องได้ส.ส.และหรือส.ว.รวมกัน 376 เสียง คือ เกินครึ่งของสองสภา เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ บนเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์”

ส่วนพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าจะไม่ง่ายที่ได้แบบนั้น ครั้งนี้ต้องเข้าใจว่า สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยไม่เหมือนตอนเป็นพรรคไทยรักไทย ซึ่ง ขณะนั้นไม่มีพรรคคู่แข่งที่เป็นข้างเดียวกันมาตัดคะแนน แต่ครั้งนี้มีพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทย สร้างไทย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คะแนนของพรรคเพื่อไทย ถูกแบ่ง

อีกทั้งนายทักษิณ ชินวัตร ทำการเมืองในแบบให้คนรู้สึกว่าเป็นธุรกิจครอบครัวมากเกินไป ต่อให้บุตรสาวจะมีความสามารถ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดูดี จึงมีชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมา แต่ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะชูใครเป็น เบอร์หนึ่ง ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องนโยบาย แต่สิ่งที่คนรอดูคือว่าที่นายกฯ หมายเลขหนึ่ง

สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือหากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ไม่ถึงครึ่งจะรวมกับพรรคการเมืองใดเพื่อเป็นรัฐบาล โดยที่ต้องไม่ลืมว่าต้องมีเสียงจาก ส.ว.ด้วย ในกรณีที่ได้เสียง ส.ส. ไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในสถานะได้เปรียบ เพียงแต่กติกาของรัฐธรรมนูญที่ต้องมีเสียง ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วยทำให้ยากขึ้น แต่โอกาสของพรรคเพื่อไทยก็ยังมากกว่า

ถ้าคิดในมุมคสช. หากจะสกัดแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย วิธีการที่เขาใช้มาตลอดคือการยุบพรรค หากใช้วิธีการนี้จะเกิดปัญหาแน่นอน โดยมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคมาครอบงำ ชี้นำ บงการ ถ้าพรรคใดยอมจะเป็นเหตุให้มีการยุบพรรค

ถือเป็นไพ่ใบหนึ่งที่อยู่ในมือที่จะเลือกเล่นได้ แต่จะเป็นไพ่อันตรายที่แม้ว่าเลือกเล่น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เปรียบเสมอไป เพราะถ้ายุบพรรคเพื่อไทย ปรากฏการณ์จะเหมือนปี 2562 ที่เมื่อยุบพรรคไทยรักษาชาติ คนก็หันมาเลือกพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น ถ้ายุบพรรคเพื่อไทยคนก็จะเลือกพรรคก้าวไกล ถ้ายุบพรรคก้าวไกลด้วย จะอันตรายที่สุด เพราะเมื่อยุบสองพรรคจะเกิดม็อบลงถนน และม็อบจะจุดติดแน่นอน

กรณีถ้าไม่เกิดม็อบแล้วยังมีการเลือกตั้ง คนก็จะเลือกพรรคเสรีรวมไทย สูตรยุบพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล จะเป็นสูตรที่ทำให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นนายกฯ ได้เลย

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า จะทำแบบที่เคยทำไม่ได้แล้ว แม้ว่าจะมีไพ่อยู่ในมือให้เล่น แต่ก็เป็นไพ่อันตราย เพราะพรรคการเมืองที่เป็นตัวเลือกมีมากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่มีแค่สองขั้ว และความชอบธรรมทางการเมืองที่เคยมีเมื่อ 8 ปีที่แล้วก็น้อยลงไปทุกขณะ เพราะถ้าดูในภาพรวมกระแสสังคมที่เคยสนับสนุน เรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การสร้างความชอบธรรมให้ทหารยึดอำนาจ ตอนนี้มีการเปลี่ยนข้างแล้ว

“การยึดอำนาจที่สำเร็จล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันหมด คือ ทหารขาขึ้น ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขาลง ต้องให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขาลงจึงจะปฏิวัติสำเร็จ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แบบเก่า เพราะการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขาขึ้น ทำให้ความสุกงอมในการปฏิวัติไม่มี ทำไปก็ล้มเหลว จึงมองว่าจะเกิดการเลือกตั้งแน่นอน”

การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะในพื้นที่ภาคใต้ จะถูกพรรครวมไทยสร้างชาติแย่งไป ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็พยายามเจาะพื้นที่อยู่ ส่วนพื้นที่เดิมในกทม.สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ง่าย เพราะครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ ส.ส.เลย

ในพื้นที่กทม.จะเป็นเรื่องระหว่างเอาพล.อ.ประยุทธ์กับไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตรงไหน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ อีกแล้ว และอาจจะเป็นตัวเลือกท้ายๆ กว่าปี 2562 ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มียุทธศาสตร์การเลือกตั้งจะลำบาก

ส่วนพรรคภูมิใจไทยมีฐานเสียงที่แน่นหนาในหลายพื้นที่ และมีส.ส.เก่าอยู่มาก ด้านพรรคก้าวไกลมีโอกาสที่จะสู้ในแบบแบ่งเขต หากดูจากสนามเลือกตั้งกทม. แม้กทม.จะไม่ใช่ประเทศไทย แต่ก็บอกอะไรบางอย่างได้จาก 50 เขต พรรคก้าวไกลได้ส.ก. 14 เขต ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย

ขณะที่ การยุบสภานั้น เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้รีบร้อนที่จะยุบสภา เพราะขณะนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะยังไม่ค่อยพร้อม และพล.อ.ประยุทธ์ยังรอดูหน้าไพ่ของพรรคการเมืองอื่นก่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่จะเอาใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐที่ดูว่าจะเอาพล.อ.ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ เองหรือไม่

ทั้งหมดยังเป็นเกมเจรจาต่อรองต่างๆ เปรียบเหมือนการเล่นไพ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้ามือ รอให้ทุกคนทิ้งไพ่หมดก่อนแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร

แต่ที่รู้กันแน่นอน คือ พล.อ.ประยุทธ์มีความประสงค์จะเป็นนายกฯ ต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน