เชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านกาแฟ บนพื้นที่สูงหลายแห่งต่างปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน สร้างรายได้ก้อนโตให้กับเกษตรกร เพราะบางรายทำครบวงจร ทั้งปลูก แปรรูป และขายเองด้วย อย่างเช่น “คุณผกากานต์ รุ่งประชารัตน์” อายุ 42 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ซึ่งนอกจากปลูกกาแฟแล้วยังแปรรูปและเปิดร้านกาแฟ ที่สำคัญมีอาหารถิ่นของชาวอาข่าไว้บริการด้วย

ใครที่ไปเที่ยวดอยผาหมี ส่วนใหญ่ต่างแวะชิมกาแฟที่ร้านของเธอ พร้อมดื่มด่ำอากาศบริสุทธิ์ และบรรยากาศสวยๆ แวดล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ อยู่ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่เหล่าหมูป่าเคยติดอยู่ในถ้ำ

คุณผกากานต์ สาวอาข่าที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาบริหารจัดการ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างแบรนด์กาแฟ “ดอยผาหมี” เล่าว่า บรรพบุรุษชาวอาข่าจากประเทศจีนเข้ามาอาศัยในไทยตั้งแต่ปี 2485 กาแฟบนดอยผาหมี ปลูกตั้งแต่ปี 2513 เมื่อก่อนที่นี่เป็นแหล่งปลูกฝิ่น มีพื้นที่ติดกับตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมา และเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อย ไม่มีต้นไม้หรือป่าไม้ มีแต่การทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นกันทั้งดอย เต็มไปด้วยยาเสพติด และภูมิประเทศแบบเขาหัวโล้น

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่ผาหมี ทรงเห็นปัญหาต่างๆ จึงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเลิกปลูกฝิ่นมาปลูกกาแฟแทน เริ่มแรกทรงให้ปลูกกาแฟโรบัสตาก่อน เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกาแฟอาราบิก้า หลังจากนั้นเกิดโครงการหลวงตามมา จนมาปลูกกาแฟอาราบิก้า รวมระยะเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว

เจ้าของร้านกาแฟดอยผาหมีบอกว่า แม้ที่นี่จะปลูกกาแฟมานานกว่าดอยอื่น แต่กลับไม่มีใครรู้จัก ขณะที่ดอยอื่นๆ มีแบรนด์กาแฟกัน เช่น กาแฟดอยช้าง และดอยปางขอน รวมถึงดอยอื่นๆ จึงตั้งใจจะทำให้กาแฟดอยผาหมีเป็นที่รู้จักและดังขึ้นมาให้ได้ โดยก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยผาหมีเมื่อปี 2557 และเปิดตัวอย่างจริงจังปี 2558 ต่อมาเปิดร้านบนดอยผาหมีปี 2559 กลุ่มตั้งปณิธานว่าจะเป็นผู้ดูแลเรื่องกาแฟ








Advertisement

ที่ปลูกกาแฟบนความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่ของชุมชนจำนวน 1,500 ไร่ ส่วนพื้นที่ของตัวเองมีอยู่ 30 กว่าไร่ จากนั้นมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้กาแฟดอยผาหมีและกาแฟในภาคเหนือได้รับความนิยม หน่วยงานภาครัฐเข้าส่งเสริมชุมชน

ปัจจุบันวิสาหกิจฯ มีสมาชิก 50-60 คน มีกำลังการผลิตกาแฟเฉพาะกาแฟกะลาจำนวนหลักแสนกิโลกรัม (ก.ก.) ต่อปี แต่ละบ้านแปรรูปจากเมล็ดเชอร์รี่เป็นกาแฟกะลาและนำมารวมกัน ยังไม่ได้ทำเป็นเชิงพาณิชย์หรือโรงงาน แต่ที่ร้านมีโรงคั่วกาแฟให้บริการชุมชนอยู่แล้ว โดยกลุ่มจะรับซื้อและนำไปขายให้โรงงานต่างๆ

ผลผลิตของที่นี่มีทั้งกาแฟเชอร์รี่ กะลา กาแฟคั่ว และกาแฟหน้าร้าน ขายกาแฟทุกกระบวนการ หากต้องการตัวไหนสามารถบอกได้ สามารถผลิตให้ได้ และรับทำ OEM ให้ด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟขนาด 250 กรัม และขนาด 500 กรัม ขายตั้งแต่ราคา 250-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับเกรดของกาแฟและประเภทของการคั่ว โดยกาแฟที่มีราคา 2,000 บาท คือกาแฟประเภทไวน์ ที่สามารถนำไปทำเป็นกลิ่นของไวน์ได้ เหมาะกับการนำไปปรุงกับกาแฟที่ใส่นม จะให้ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นวิธีการของร้านอย่างหนึ่งที่ทำร่วมกับการหมักผลไม้ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นแค่กลิ่นเท่านั้น

สำหรับการปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพดีนั้น ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยผาหมีอธิบายว่า การเพาะเมล็ดต้องเลือกเมล็ดที่ดีที่สุด ต้นกาแฟชอบอากาศเย็น และต้องปลูกเว้นระยะห่าง 1.5-2 ม. หากอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ได้ยิ่งดี เพราะกาแฟไม่ชอบแสงแดดแรง และไม่ต้องใส่สารเคมี ถ้าเป็นไปได้ควรปลูกแบบอินทรีย์

ในส่วนกาแฟดอยผาหมีแม้ไม่ได้เป็นอินทรีย์ 100% แค่ไม่ได้ใส่สารเคมีลงไป เน้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เนื่องจากต้นกาแฟอยู่ใกล้กับพืชชนิดอื่นด้วย จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอินทรีย์ 100% อย่างไรก็ตามได้ใบการันตีกาแฟปลูกแบบปลอดภัย

ทั้งนี้ สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟได้ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. หลังจากเก็บผลผลิตได้ 2 สัปดาห์ ต้นกาแฟจะออกดอกและตั้งท้องยาวไปจนถึงเดือนต.ค.จึงเริ่มเก็บเกี่ยวได้ แต่อาจยังไม่สุกดี ต้องเก็บทีละเมล็ดๆ และเก็บไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดเดือนก.พ.

ในแต่ละปีการปลูกกาแฟพบเจอปัญหาไม่เหมือนกัน โดยปี 2564-2565 กาแฟมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 20-30% จากเดิมกาแฟกะลาอยู่ที่ 110-115 บาท/ก.ก. แต่ปัจจุบันขยับมาเป็น 150-155 บาท/ก.ก. เนื่องจากกาแฟมีน้อยจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ขณะที่กาแฟต้องการอากาศเย็น ทำให้ได้ผลผลิตน้อย จึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ด้านปัญหาแมลงรบกวนก็มีเป็นปกติ ส่วนใหญ่เจอช่วงหน้าร้อนในบางปี ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เช่น ปี 2565 ฝนเยอะ ไม่ค่อยพบแมลง แต่โรคแมลงไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับคนในชุมชน เมื่อเจอแมลงต้องตัดต้นและทิ้งให้ไกลจากพื้นที่ หากปล่อยไว้จนเจออากาศเย็นต้นไม้จะตายได้

กับคำถามที่ว่ากาแฟดอยผาหมีมีจุดเด่นตรงไหน เธอให้คำตอบว่า มีเอกลักษณ์สูงมาก โดยเฉพาะกลิ่น เนื่องจากพื้นที่ปลูกเป็น ภูเขาหินปูนที่มีแร่ธาตุสูงมาก เห็นได้จากผลไม้ที่สามารถปลูกได้ทุกชนิดบนดอยนี้ กาแฟจึงพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย ทั้งกลิ่น ความเข้ม และความนุ่มนวลจะไม่เหมือนที่อื่น หากสนใจกาแฟ ดอยผาหมี ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 08-9449-7942 หรือเพจเฟซบุ๊ก กาแฟดอยผาหมี

คุณผกากานต์บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเข้าร่วมโครงการพัฒนาการผลิตกาแฟกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะการผลักดันในเรื่องท่องเที่ยวชุมชน การรวมตัวกัน เพื่อส่งเสริมการทำกาแฟให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อให้เกิดจุดเด่น รวมทั้งงบประมาณต่างๆ และการทำมาตรฐาน อย.

นับว่า “กาแฟดอยผาหมี” เป็นอีกแบรนด์ที่มีการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง และใช่จะเน้นขายกาแฟเพียงอย่างเดียว ยังส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีประเพณีวัฒนธรรมของชาวอาข่าเป็นจุดขาย ซึ่งถ้าใครไปเที่ยวบนดอยผาหมีนอกจากจะได้ชิมกาแฟรสชาติดีแล้ว ยังสามารถใช้บริการโฮมสเตย์ของที่นั่นได้ด้วย

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน