นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมการค้าปลีกไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันหรือขาดสมดุล อีกทั้งต้องเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจอย่างน้อย 5 ลูก ประกอบด้วย ภาวะเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยเพิ่มสูง, หนี้ครัวเรือนสูงที่เป็นตัวฉุดการบริโภค, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงต่อไป, การ กลับมาระบาดของโควิด-19 และการปรับเพิ่มของค่าแรง และแรงงานขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกใน 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) จากการสำรวจมีแนวโน้มปรับลดลง จากปัจจัยกดดันทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูง กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือน มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ทยอยหมดลง แนวโน้มต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นทั้งจากค่าวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ยังพบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีลักษณะไม่สมดุล สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”

สมาคมจึงมีความเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่จะเข้ามาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจต้องมีความหลากหลาย ตรงเป้าหมาย ไม่ซับซ้อน เน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในขณะที่ผู้บริโภคระดับบนมีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน

ทั้งนี้ ปี 2566 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% คาดว่ารายได้จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดในปี 2567 แต่ยังกังวลเรื่องต้นทุนสูงขึ้น กำลังซื้อเปราะบาง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และนักท่องเที่ยวมาต่ำกว่าที่คาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน