สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่

ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 มคก./ลบ.ม.หรือพื้นที่สีแดง ติดต่อกันหลายวัน

จึงเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับกรณีดังกล่าวแล้วใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ

เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไป

ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากมลพิษทางอากาศล่าสุด พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มถึง 376,165 ราย

กลุ่มที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรค ตาอักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง อุดตันขาดเลือด

ดังนั้น การตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้านจึงมีความจำเป็น หากค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกัน

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป ที่อาจจะมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้








Advertisement

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุขนาดของอนุภาคเล็กถึง 2.5 ไมครอน หรือขนาด 0.0025 มิลลิเมตร เมื่อหายใจเข้าไปจึงเข้าถึงถุงลมขนาดเล็กในปอดทันที

จากหลอดลมไปหลอดเลือดและกระจายไปยังส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงแทรกผ่านผนังถุงลมเข้าไปในกระแสเลือดรอบๆ ถุงลมและกระจายเข้าร่างกายไปอวัยวะต่างๆ ได้

เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะทำให้เกิดการอักเสบของส่วนต่างๆ เช่น ปอด ผนังเส้นเลือด และอวัยวะอื่น ที่อาจเกิดอันตรายเฉียบพลันหรือในระยะยาว

ด้วยภัยอันตรายที่คาดไม่ถึงนี้ การบริหารจัดการ การป้องกัน รวมถึงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความตระหนักในทุกช่องทางจึงมีความสำคัญเร่งด่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน