นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ออกมาท้วงติงเป็นคนแรก

หลังกกต.ประกาศจำนวนส.ส.เขต ในแต่ละจังหวัด โดยเอาจำนวนราษฎร 66,090,475 คน หารด้วย 400 ซึ่งได้จำนวนราษฎรเฉลี่ย 165,226 คนต่อจำนวน ส.ส. 1 คน

จำนวนประชากรดังกล่าว สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2565

พร้อมกับแยกราษฎร เป็น 2 ประเภท คือมีสัญชาติไทย 65,106,481 คน และไม่มีสัญชาติไทย 983,994 คน รวมเป็น 66,090,475 คน

แต่การคำนวณราษฎรตามมาตรา 86 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ไม่ระบุชัดเจนว่าราษฎรหมายถึงใคร แต่การเอาผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยมารวม เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ มีความเป็นห่วงเรื่องคนต่างด้าวแต่ละพื้นที่ว่าจะรวมเป็นประชากรในเขตเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ซึ่งกกต.แจ้งว่าที่ผ่านมาก็รวมประชากรแรงงานต่างด้าวใน เขตนั้นๆ ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่าต้องใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย

พร้อมกับเสนอให้ กกต.ขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.ยืนยันว่ากกต.ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 86 บัญญัติไว้ ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง

ถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้จะเห็นว่าให้เอาจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรมาพิจารณา ซึ่งกกต.ได้ยึดหลักการนี้ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด

ยืนยันจะไม่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ เพราะทำตามที่กฎหมายเขียนไว้ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ

ขณะที่นายสมชัย ออกมาย้ำเตือนอีกว่าหากมีประชาชนใช้สิทธิยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการคำนวณแบบที่กกต.ตัดสินใจเอาคนไม่มีสัญชาติไทยมา รวมด้วย เป็นการตีความกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิในการได้จำนวนผู้แทนที่เหมาะสมของจังหวัดนั้นๆ หรือไม่

ถ้าศาลมาชี้ภายหลังเลือกตั้งว่ากกต.ทำไม่ถูก งานเข้านี้จะไม่ใช่แค่งานช้าง แต่เป็นระดับงานไดโนเสาร์ทีเดียว

เพื่อความปลอดภัยสุด แนะนำอีกครั้งให้กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความคำว่า “ราษฎร” ในมาตรา 86 นั้นรวมถึงผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยหรือไม่

เรื่องนี้น่าสนใจว่าอาจจะเป็นประเด็น ใหญ่ต่อไป

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน