มีคำเปรียบเปรยว่าเกาะลิบงคือเมืองหลวงของพะยูน ก็เพราะว่าเกาะลิบงเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย สำรวจพบมากกว่า 200 ตัว

คนเกาะลิบงผูกพันกับพะยูน ดูแลกันมานานหลายสิบปีแล้ว

เด็กๆ และชาวบ้านที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เรียกพะยูนว่า “ดุหยง”

พะยูนไม่ใช่ปลา ถึงแม้จะอยู่ในทะเลและว่ายน้ำคล้ายปลาก็ตาม เด็กๆ ชี้ให้ดูจมูกของพะยูนเมื่อพะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำ มันว้าว! มาก ด.ช.ฮัสซิน สารสิทธิ์ ชั้น ป.4 บอกว่า “มันไม่ใช่ปลานะ มันเป็นดุหยง ถ้าปลาหายใจด้วยเหงือก แต่ ดุหยงมันคล้ายๆ คน มันขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ท่าว่ายน้ำ ไม่เหมือนปลา ดูที่ครีบหางมันจะโบกขึ้นลงคล้ายโลมา ถ้าเป็นปลาจะโบกซ้ายขวา”

เด็กๆ ช่างสังเกต มีประสบการณ์เกี่ยวกับพะยูนเยอะก็เพราะเกิดและเติบโตที่เกาะลิบง คุ้นเคยกับพะยูนเหมือนเพื่อน พะยูนอยู่แบบไหน อยู่อย่างไร นอนอย่างไร กินอะไร ที่ไหน รู้ไปหมด








Advertisement

“ดุหยงเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบงนะครับ ใครมาเที่ยวเกาะ ลิบงต้องได้เห็นดุหยง” ด.ช.ฮัสซินบอกอย่างภูมิใจ

คนเกาะลิบงหากินกับท้องทะเล ทั้งใกล้บ้านและไกลออกไป อาชีพและรายได้หลักมาจากการทำประมงพื้นบ้าน กุ้ง หอย ปู ปลา ล้วนอาศัยหญ้าทะเลเป็นที่ฟักตัวอ่อนและหลบภัย จนกว่าจะเติบโตออกสู่ทะเลใหญ่ หญ้าทะเลยังเป็นอาหารหลักของดุหยงหรือพะยูนด้วย

หญ้าทะเลสำคัญอย่างไร ถ้าถามเด็กๆ เกาะลิบง ทุกคนตอบได้หมด “หนึ่งเป็นอาหารของพะยูน สองเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำทุกชนิด สามเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำตอนยังเล็ก สี่เป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ” ความรู้ในห้องเรียนบวกประสบการณ์ตรงของลูกทะเลชั้น ป.4 บอกอย่างนี้

ในขณะที่คนเกาะลิบงประกอบอาชีพการท่องเที่ยวมากเป็นที่สองรองจาก อาชีพประมง ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ นักท่องเที่ยวประทับใจในบริการทริปดูพะยูน ท่องทะเล สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่บนเกาะ แต่วันนี้ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ สะสมมาทีละน้อย เริ่มส่งผลต่อวิถีการท่องเที่ยวแบบสัมผัสถึงชุมชนแล้ว จะหาหอยก็ไม่ได้ง่ายดายและมากมายเหมือนเก่า จะดูพะยูนก็พบน้อยลงกว่าเดิม เริ่มสัมผัสได้ด้วยตาว่าหญ้าทะเลหายไปไหน

ด.ช.ปิยวัฒน์ เสียมไหม น้องป๊อก บอก ว่า “ถ้าไม่มีหญ้าทะเล อย่าว่าแต่ดุหยง เลย ชาวบ้านก็เดือดร้อนเพราะเขาต้องหาปูหาปลา” เด็กชายชั้น ป.4 กล่าว

ในวันที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับหญ้าทะเล แหล่งหญ้าทะเลที่เคยงอกงามกินอาณาบริเวณกว้างไกล ลดจำนวนลงไปมาก คงส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เกาะลิบงไม่ช้าก็เร็ว ที่ไหนมีหญ้าทะเล มีอาหาร พะยูนจะไปอยู่ที่นั่น ในอนาคตเมืองหลวงของพะยูนอาจไม่ใช่ ที่เกาะลิบงอีกต่อไป

จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกันอย่างไร คงต้องทบทวนผลกระทบจากการพัฒนาทั้งจากภายนอกและภายในชุมชน สำรวจและหาวิธีการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้กลับ คืนมา เพราะแหล่งหญ้ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งพะยูน สัตว์น้ำ และชีวิตผู้คนบนเกาะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไปเยี่ยมพะยูน 2023 เยี่ยมชาวบ้านและเกาะลิบงด้วยกันในทุ่งแสงตะวัน ตอน ดุหยง เสาร์นี้ 4 มีนาคม 2566 เช้าๆ เวลา 05.05 น. ที่ช่อง 3 กด 33 และทางเพจ เฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน ยูทูบอีกครั้งในเวลา 07.30 น.

เอาใจช่วยพะยูนและหญ้าทะเลให้กลับมาสดชื่นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน