ภัยจากฝันร้าย

เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่าง “ฝันร้าย” ในวัยเด็กกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในช่วงหลังของชีวิต ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากการติดตาม เด็ก 7,000 คน ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 50 ปี ระหว่างปี 2501-2551 โดยเจ้าหน้าที่สอบถามแม่ของเด็กที่ร่วมการวิจัยว่าลูกมีประสบการณ์ฝันร้ายในช่วงอายุครบ 7 ขวบ และ 11 ขวบกี่ครั้งในช่วง 3 เดือน

สำหรับเด็กที่มีประวัติฝันร้ายทั้งสองช่วงอายุจะถือเป็นกลุ่มฝันร้ายบ่อย จากนั้นติดตามเก็บข้อมูลด้านสุขภาพต่อเนื่องจนเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่อายุครบ 50 ปี เมื่อเจ้าหน้าที่นำข้อมูลมาประเมินก็พบว่าผู้ร่วมวิจัย 268 คน คิดเป็นร้อยละ 4 จากทั้งหมด 7,000 คน มีประสบการณ์ ฝันร้ายบ่อยช่วง วัยเด็ก ในจำนวนนี้ร้อยละ 6 เผชิญกับปัญหาทางสมองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน โดยมีความเสี่ยงเป็นภาวะความสามารถของสมองบกพร่องมากเป็น 2 เท่า และอาจป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน โรคความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเคลื่อนไหว มากถึง 7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ร่วมวิจัยอีก 5,470 คนที่ไม่อยู่ในกลุ่มเด็กฝันร้ายบ่อย พบว่ามีร้อยละ 3 ที่เจอภาวะสมองเสื่อมในภายหลัง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าผลวิจัยดังกล่าวทำให้สรุปในเบื้องต้นได้ว่าการฝันร้ายบ่อยครั้งในช่วงวัยเด็กเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมช่วงวัยกลางคน พร้อมชี้แจงว่าการฝันร้ายจะส่งผลให้เด็กเกิดอาการผวาจนตื่น ถือเป็นการหยุดชะงักการนอนหลับและทำให้คุณภาพการนอนลดลง ยิ่งฝันร้ายบ่อยๆ การนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ จะสร้างความเสียหายให้กับโปรตีนในสมองและนำไปสู่การเสื่อมของเซลล์สมองนั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน