วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญ 1 ใน 4 วันของพระพุทธศาสนา เวียนมาบรรจบอีกคำรบ ในวันนี้ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือน 4

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนา อธิบายว่า “มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปุณณมีบูชา” หรือ “มาฆบูรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 3

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทาน “โอวาทปาติโมกข์” ในที่ประชุมพระสาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 คือจาตุรงคสันนิบาต เพื่อให้มีหลักการร่วมกันในการประกาศพระศาสนา

ในประเทศไทยราชการกำหนดให้ เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่นเดียวกับ วันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรม

คําว่า “จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า การประชุมพระสาวกซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 หรือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 กล่าวคือ

พระสาวกทั้งหลายที่มาประชุมวันนั้น ล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับอุปสมบทโดยพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ พระสาวกที่ประชุมวันนั้นก็มีจํานวนถึง 1,250 องค์ มาโดยมิได้นัดหมาย และวันดังกล่าวตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เต็มดวงบริบูรณ์

การประชุมในวาระเช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ เกิดมีครั้งเพียงครั้งเดียวในพุทธโคดมสมัย เป็นครั้งสําคัญที่พระพุทธ เจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” ด้วย








Advertisement

คําว่า “โอวาทปาติโมกข์” แปลว่า โอวาทที่เป็นประธาน หรือคําสอนที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึงธรรมที่เป็นหลักสําคัญของพระพุทธศาสนาหรือ “หัวใจของพระพุทธศาสนา” 3 ประการ คือ

ไม่ทําบาปทุกอย่าง ได้แก่ ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทุกระดับ ตั้งต้นแต่ประพฤติตามหลักศีล 5 เช่น ไม่ทําลายชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

ยังกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ บําเพ็ญความดีให้บริบูรณ์ เช่น มีศรัทธา มีเมตตา กรุณา ฝึกจิตให้ เข้มแข็ง มีสมาธิ มีความเพียร มีสติรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ เป็นต้น

ทำจิตของตนให้ผ่องใส ได้แก่ ชําระจิตให้บริสุทธิ์ สะอาด ให้หลุดพ้นจากกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ซึมเซา เป็นต้น

อาจสรุปเพื่อให้ขึ้นใจได้ว่า เว้นทำ ความชั่ว ทําแต่ความดี และทําใจให้บริสุทธิ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญวันมาฆบูชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน