คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โชว์ศักยภาพนักศึกษาไทย หนุนครัวไทยเป็น “ครัวโลกที่ดีต่อสุขภาพ” คิดค้นนวัตกรรมบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปเสริม “ไคโตซาน” จากเปลือกกุ้งครั้งแรกของไทย เพิ่มมูลค่าให้เปลือกกุ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมประมง คว้า 2 รางวัลในการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge และการแข่งขัน PTTEP Teenergy Innovation Challenge

คณะนักศึกษาผู้พลิกโฉมบะหมี่ให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพเป็น 5 คนรุ่นใหม่ไฟแรง นักศึกษาปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หลักสูตรวิศวกรรมผลิตภัณฑ์นมและเครื่องดื่ม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในชื่อทีมชริมพ์นี่ (Shrimpney) ประกอบด้วย นิชาภา อำพล, ชัญญกัญญ์ สกุลบริสุทธิ์สุข, ชุตินันท์ อุดมลาภประสิทธิ์, ธัญวี สุภาพาส และ เพชรไพลิน พวงประดับ โดยมี ดร.ดลพร แซ่แต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ชัญญกัญญ์ สกุลบริสุทธิ์สุข หรือ มีมี่ บอกเล่าถึงที่มานวัตกรรมนี้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคย แต่หาก รับประทานในปริมาณที่มากต่อวันและต่อเนื่องกันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมสูง ข้อมูลทางการแพทย์ระบุถึงปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตรายคือ ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือป่น 1 ช้อนชา หากบริโภคเกินจะทำให้ไตเสื่อม ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิด โรคไต โรคหัวใจ และหลอดเลือดตามมา

“ทีมชริมพ์นี่จึงคิดค้นนวัตกรรมบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปเสริมคุณค่าทางโภชนาการจากเปลือกกุ้งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หรือพลิกโฉมเป็น Functional Food ด้วยการลดปริมาณโซเดียม และเสริมสารสกัดไคโตซานจากเปลือกกุ้ง พร้อมกลิ่นรส อีกทั้งยังคงรสชาติที่อร่อยในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้” ชัญญกัญญ์กล่าว

ด้าน ธัญวี สุภาพาส หรือ จินน่า กล่าวถึงจุดเด่นและประโยชน์ว่าบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปที่มีชื่อเรียกว่า “ชริมพ์นี่” แตกต่างจากสินค้าบะหมี่ทั่วไปในตลาด เนื่องจากมีสารสกัดไคโตซานจากเปลือกกุ้งซึ่งมีโครงสร้างเส้นใยธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ดูดจับไขมันในทางเดินอาหารได้สูง 8-10 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง สามารถลดระดับไขมันในเลือด และช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน








Advertisement

“กระบวนการผลิตบะหมี่เราใช้การอบแทนการทอด ใช้กลิ่นรสหอมอร่อยจากเปลือกกุ้งเพื่อลดการใช้โซเดียมในการผลิตเส้น ช่วยลดการเกิดปัญหาต่อสุขภาพที่จะตามมา นวัตกรรมนี้มุ่งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน รายได้ปานกลาง-สูง เป็นผู้ชื่นชอบการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และมองหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นทางเลือกสุขภาพ การนำเปลือกกุ้งมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในบะหมี่ยังช่วยลดปริมาณขยะในทะเล หนึ่งในสาเหตุภาวะโลกร้อน”

ธัญวีกล่าวด้วยว่า ภูมิใจที่ได้รับสองรางวัลในการแข่งขัน งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระยะเวลาวิจัย 1 ปี แม้ว่าเวลาของเพื่อนแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ทุกคนทุ่มเทและสละเวลาส่วนตัวมาศึกษาวิจัยร่วมกัน ออกไปศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน ฝึกทักษะพัฒนาตัวเองและทำงานร่วมกันเป็นทีมจนทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ เปิดโอกาสให้พลัง คนรุ่นใหม่ร่วมสร้างสรรค์ “ครัวไทยเป็นครัวโลกที่ดีต่อสุขภาพ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน