ถนนการเมืองทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง พ.ค. หลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

จากนั้น กกต.ได้กำหนดปฏิทินไปสู่วันเลือกตั้ง สรุปว่าวันกาบัตรคือวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. หรือ 55 วันหลังวันยุบสภา

สำหรับการเปิดรับสมัครเลือกตั้งส.ส. จะเปิดรับสมัครแบบเขต 3-7 เม.ย. และแบบบัญชีรายชื่อ 4-7 เม.ย.

ในส่วนพรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง หลังยุบสภาต้องทำไพรมารีโหวต หรือการเลือกตั้งขั้นต้น ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ออกหนังสือรับรองผู้สมัครให้เรียบร้อยก่อนวันสมัคร

การคิดค่าใช้จ่ายหาเสียง เริ่มนับจากวันยุบสภา ผู้สมัครแบบเขตไม่เกิน 1.9 ล้านบาท พรรคการเมืองไม่เกิน 44 ล้านบาท

และที่หลายคนสงสัย ยุบสภาแล้วคดีฝ่าฝืนกฎเหล็ก 180 วันก่อนสภาครบวาระ ของ กกต. ที่เริ่มนับมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.65 จะยกเลิกไปเลยหรือไม่

เรื่องนี้อดีตกกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร อธิบายว่า

เป็นความเข้าใจของนักการเมือง พรรคการเมือง และเจ้าหน้าที่ กกต.บางคนว่า พอยุบสภา คดีทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจะเริ่มนับตั้งแต่วันยุบสภา ดังนั้น การทำผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ถือเป็นการยกเลิกกันไป

ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเพียงครึ่งเดียว

กล่าวคือหากผู้กระทำผิดไม่ได้เป็น ผู้สมัครเลือกตั้ง ก็เป็นอันยกเลิก ไม่มีความผิด

แต่หากผู้กระทำผิดเป็นผู้สมัครส.ส. ไม่ว่าแบบเขต หรือแบบบัญชีรายชื่อ ก็น่ากังวล

เนื่องจาก กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการหาเสียง ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 ข้อ 18/1 บังคับใช้แก่ผู้ประสงค์จะสมัครรับ เลือกตั้งด้วย

สรุปแบบง่ายคือ หากทำผิดในช่วง 180 วัน พอถึงเวลาแล้วไม่ได้เป็น ผู้สมัครเลือกตั้ง ก็เลิกแล้วกันไป

แต่พอมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง มีการเปิดรับสมัคร แล้วผู้กระทำผิดกฎเหล็ก 180 วัน ลงสมัครส.ส.ด้วย ก็ไม่รอด

ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 132

ที่ให้อำนาจ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครที่กระทําผิด ทุกราย ไว้เป็นการชั่วคราวไม่เกินหนึ่งปี นับแต่วันที่มีคําสั่ง และในกรณีผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง

ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่

ฉะนั้น ถ้าใครรู้ตัวว่าทำพลาดไปในช่วงกฎเหล็ก 180 วัน แล้วคิดจะลงสมัครเลือกตั้ง อาจต้องกลับไปคิดใหม่อีกที

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน