ตลาดโน้ตบุ๊กชั้นธุรกิจเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่แข่งขันกันดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก Latitude ของค่ายเดลล์ โน้ตบุ๊ก EliteBooks จากค่ายเอชพี โน้ตบุ๊ก ThinkPad จากค่ายเลอโนโว รวมถึง ExpertBook จากค่ายเอซุส หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีชื่อก้องโลกจากไต้หวัน

เอซุส เอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 (ASUS ExpertBook B5) ที่ผู้ทดสอบนำประสบการณ์การใช้งานมาเล่าสู่กันฟังครั้งนี้คือ รุ่น B5 B 5602 C เปิดตัวครั้งแรกในงาน IFA กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อต้นเดือนก.ย.2565 และเพิ่งเปิดตัวในไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้โน้ตบุ๊กชั้นธุรกิจที่ต้องรังสรรค์คอนเทนต์เน้นหนักไปทางด้านกราฟิก

เอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 รุ่นนี้ ยังคงดีไซน์กลมเกลี้ยง คมเข้ม สะอาดตา หรูหราเป็นมืออาชีพ พร้อมฟังก์ชันการทำงานครบครันตามแบบฉบับเอ็กซ์เพิร์ตบุ๊กรุ่นผ่านๆ มา โดยเน้นสูตรผสมระหว่างจอภาพใหญ่ยักษ์ เข้ากับน้ำหนักเครื่องเบาบาง ใช้งานภายใต้ระบบปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 11 โปร

วัสดุเครื่องทำจากโลหะผสมแม็กนีเซียม-อะลูมิเนียม (เฉพาะฝาจอและด้านบนของฐานเครื่อง นอกนั้นเป็นอะลูมิเนียม) ทำให้มีความ แข็งแรงทนทาน แต่น้ำหนักเบากว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป มาในโทนสีดำ Star Black ทำให้แลดูหรูหรา หล่อเหลา ทรงพลัง

ทั้งยังผ่านมาตรฐานทดสอบของกองทัพสหรัฐอเมริกา (US MIL-STD 810H) ทั้งสิ่งของตกกระทบ ตัวเครื่องตกกระแทก กันน้ำสาด แรงกดทับ อุณหภูมิ และการทดสอบแป้นพิมพ์กว่า 10 ล้านครั้ง

จอภาพเอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 ตัวที่ผู้ทดสอบได้มาเป็นระดับเอนทรี จอภาพขนาด 16 นิ้ว ใช้เทคโนโลยี LCD ความละเอียดสูงสุด 1,920 x 1,200 พิกเซล อัตราส่วนภาพแบบ 16:10 มีข้อด้อยเรื่องความถูกต้อง ของสี








Advertisement

แต่ในประเทศไทยจะเป็นรุ่นที่สูงกว่า ใช้จอ OLED ความละเอียดสูงสุด 4K (3,840 x 2,400 พิกเซล) ความสว่าง 400 นิต ความถี่ 60 เฮิร์ตซ์ (Hz)

ผู้ทดสอบชื่นชอบรุ่นจอ OLED มากกว่า เพราะนอกจากคอนทราสต์ที่เหลือกิน รองรับระบบ HDR ตอบสนองว่องไว 0.2 มิลลิวินาที (ms) ยังให้สีสันถูกต้องในระบบ DCI-P3 หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม (เทียบได้กับ 133% sRGB) มาตรฐานเดียวกับจอภาพ โรงภาพยนตร์ ผ่านมาตรฐานถนอมสายตาของสถาบัน TUV Rhineland ประเทศเยอรมนี

ขนาดจอภาพที่ใหญ่มโหฬารเป็นหนึ่งในสูตรการออกแบบของ เอซุสเพื่อสร้างพื้นที่ทำงานให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น สอดรับกับขอบจอภาพที่บาง สัดส่วนจอภาพต่อเครื่องร้อยละ 83 กล้อง Webcam วางกึ่งกลางจอด้านบน ความละเอียด 720p (น่าเสียดายที่ไม่ใช่ 1080p)

มาพร้อมความปลอดภัย อาทิ แถบเลื่อนปิดเลนส์ Webcam Shield เพิ่มความเป็นส่วนตัว เซ็นเซอร์ IR Camera รองรับการสแกนใบหน้าเพื่อล็อกอินได้แม้ในที่มืด เซ็นเซอร์ลายนิ้วมือตอบสนองว่องไว บิลต์-อินที่ปุ่มเปิดปิดด้านข้างตัวเครื่อง ฟีเจอร์ Trusted Platform Module 2.0 (TPM 2.0) ที่เข้ารหัสข้อมูลด้านความปลอดภัยไว้ในส่วนปลอดภัยของเครื่อง และ Kensington lock ที่ช่องรองรับอุปกรณ์เสริม ป้องกันเครื่องถูกขโมยในพื้นที่ที่อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง

เอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 ขนาดเครื่องกว้าง 26.12 ยาว 35.82 หนา 1.99 เซนติเมตร น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ขนาด 84 วัตต์ (W) อยู่ที่ 1.5 กิโลกรัม (1.2 ก.ก.ไม่รวมแบตฯ) ถือว่าเบาสำหรับโน้ตบุ๊กขนาด 16 นิ้ว

การออกแบบส่วนใช้งานที่ฐานล่าง สวยงามน่าใช้ เห็นได้ชัดว่าทางเอซุสใส่ใจรายละเอียดมาดี เริ่มตั้งแต่แป้นพิมพ์แบบเต็มขนาดที่ให้ประสบการณ์การพิมพ์ได้อย่างรื่นรมย์ ด้วยขนาดปุ่มที่ใหญ่ 0.15 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างปุ่มเท่ากับแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์พีซี (19.05 ม.ม.) ระยะปุ่มกด 1.5 ม.ม. และแรงกดที่ยอดเยี่ยม พร้อมไฟ แบล็กไลต์สีขาว

ทัชแพดตอบสนองว่องไว ไม่พบปัญหาเรื่องการยุบ ขนาดใหญ่พิเศษเพิ่มความสะดวกสบาย ที่วางมือแข็งไม่มีการยุบตัว

แต่ตัวทัชแพดวางค่อนไปทางซ้าย ไม่อยู่กึ่งกลาง สาเหตุเพราะส่วนใหญ่ผู้ใช้จะพิมพ์อยู่ในส่วนของตัวอักษรมากกว่าตัวเลข ทำให้หากวางทัชแพดไว้ตรงกลางแล้วพักข้อมือไม่สะดวกอาจไปโดนทัชแพดได้

ยังไม่นับฟีเจอร์ ErgoLift ที่สันจอภาพจะยกด้านหลังตัวเครื่องให้เทเข้าหาผู้ใช้เล็กน้อยราว 1.71 องศา (จอเปิดกางออกได้สูงสุดราว 100 องศา)

ลักษณะแป้นพิมพ์ยุบตัวลงเล็กน้อยเป็นหลุม ช่วยเพิ่มมิติให้การออกแบบ ช่องระบายความร้อนทั้งบนและล่างทำให้เครื่องไม่มีปัญหาความร้อน เสียงพัดลมไม่ดังเกินงาม สามารถเปิดฝาเครื่องได้ด้วยมือเดียว โดยฐานไม่ติดตามขึ้นมา เหล่านี้คือความเชี่ยวชาญที่เอซุสสั่งสมมาหลายปี และความใส่ใจในรายละเอียดที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

ลำโพงโน้ตบุ๊กรุ่นนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ช่องลำโพงมี 2 ตำแหน่ง อยู่ด้านล่างซ้ายและขวาของเครื่อง ให้เสียงดัง เปิดสุดไม่แตก เวทีเสียงกว้าง แยกเครื่องดนตรีชัด เสียงกลางโดดเด่น สูงค่อนไปทางหวาน ย่านต่ำพอใช้ ส่วนเบสตามมาห่างๆ พอให้หายคิดถึง รองรับ Dolby Atmos

นอกจากนี้ ไมโครโฟนยังใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ช่วยให้เสียง มีความชัดเจนมากขึ้นด้วยการตัดเสียงรบกวนรอบข้างออก รวมไมโครโฟนทั้งหมด 3 ตำแหน่ง

ขุมพลังของเอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 มาจากหน่วยประมวลผล หรือซีพียู Intel Core i7-1270P ความถี่สัญญาณนาฬิกาฐาน 2.2 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) และเทอร์โบสูงสุด 4.8 GHz เป็นซีพียูใน Intel Core Series รุ่นที่ 12 ภายในมีคอร์ประมวลผล 12 คอร์ แบ่งเป็นคอร์ประสิทธิภาพ 4 คอร์ และคอร์ประหยัดพลังงาน 8 คอร์ รองรับเธรดข้อมูลได้สูงสุด 16 เธรด (เทียบเท่าซีพียู 16 ตัว)

หน่วยความจำแรมแบบ DDR5 ขนาด 16 กิกะไบต์ (GB) สามารถรองรับได้สูงสุดถึง 40 GB พื้นที่เก็บข้อมูล 512 GB บน M.2 NVMe PCIe 4.0 SSD รองรับได้สูงสุดถึง 2 เทร่าไบต์ (TB)

หน่วยประมวลผลกราฟิก หรือจีพียู แบ่งเป็น 2 ระบบ ระหว่างจีพียูบิลต์-อิน Intel Iris Xe ที่ทำงานในเวลาปกติ และการ์ดจอ Intel Arc A350M จีพียูใหม่จากค่าย Intel ที่จะเริ่มทำงานในเวลาต้องการพลังด้านกราฟิกสูง โดยผลการทดสอบพบว่าเร็วกว่า NVIDIA GeForce MX450 แต่ยังช้ากว่า GTX 1650

เหมาะสำหรับทำงานด้านกราฟิก แต่ไม่แนะนำสำหรับผู้จะนำมาเล่นเกม เนื่องจาก Intel Arc A350M ยังพบปัญหาไม่รองรับเกมบางเกม แต่ก็เป็นธรรมดาของโน้ตบุ๊กรุ่นที่ใช้ทำงาน

การทดสอบใช้งานพบว่าระบบปฏิบัติการลื่นไหลดี ตอบสนองรวดเร็ว รองรับการทำงานได้ครบครัน มีระยะเวลาใช้งานอยู่ราว 10 ชั่วโมง เพียงพอต่อการใช้งานทั้งวัน (ใกล้เคียงกับที่เอซุสโฆษณาไว้ 11.5 ช.ม.)

ส่วนชาร์จเจอร์ที่เอซุสแถมมาให้เป็นขนาด 90 W หัวแบบ USB-C เชื่อมต่อเข้าพอร์ตของเครื่อง ชาร์จได้ร้อยละ 40 หลังผ่านไป 30 นาที และเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ใช้เวลาไปประมาณ 1 ช.ม. 40 นาที

ความสามารถการเชื่อมต่อของเอ็กซ์เพิร์ต บุ๊ก บี 5 ค่อนข้างครบครัน ได้แก่ USB 2.0 Type A จำนวน 1 ช่อง USB 3.2 Gen 2 Type A จำนวน 1 ช่อง Thunderbolt 4 ที่รองรับได้ทั้ง Display และ power delivery จำนวน 2 ช่อง HDMI 2.0b จำนวน 1 ช่อง RJ45 Gigabit Ethernet (LAN) จำนวน 1 ช่อง Micro SD card reader จำนวน 1 ช่อง และช่องหูฟังมินิสเตอริโอ พร้อมรองรับสัญญาณ Wi-Fi 6E มาตรฐานใหม่ล่าสุดของ Wi-Fi (802.11ax) แบบ Dual band และสัญญาณบลูทูธ 5.1 ภายในกล่องมีเมาส์ไร้สายแถมมาด้วย

ผู้ทดสอบมองว่า เอ็กซ์เพิร์ตบุ๊ก บี 5 ค่ายเอซุส เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับทำงาน เหมาะสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์มืออาชีพ น่าเสียดายตรงไม่มี Webcam ความละเอียด 1080p และใช้จีพียู Intel Arc ซึ่งถือเป็นจีพียูที่ใหม่มาก และไดรเวอร์ยังไม่ปึ้กเท่ากับค่าย Nvidia และ AMD ทำให้ผู้ใช้อาจจะไม่ค่อยมั่นใจนัก

แต่ทั้งหมดนี้ชดเชยด้วยประสิทธิภาพที่รองรับการทำงานได้ทุกรูปแบบ ขนาดบางเบา พกพาสะดวก ระยะเวลาการใช้งานค่อนข้างนาน ความทนทานสูง พร้อมพื้นที่ใช้งานที่โอ่โถงสะดวกสบาย

มีความโดดเด่นที่จอภาพ OLED ความละเอียด 4K UHD และดีไซน์หล่อเหลา ได้รับการใส่ใจรายละเอียด นับว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถยันกับคู่แข่งค่ายอื่นได้อย่างสง่างามในตลาดธุรกิจ

สนนราคาเริ่มต้น 56,000 บาท พร้อมบริการตรวจซ่อมฟรีถึงที่ระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมการรับประกันนาน 3 ปี ใน 82 ประเทศ และประกันอุบัติเหตุ 1 ปีแรก แถมเป้สะพาย ExpertBook ให้ด้วย 1 ใบ

ทีมข่าวสดไอที
จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน